บังกลาเทศ 3 ก.พ.-บังกลาเทศเดินหน้าแก้ปัญหาวิกฤติผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานับหมื่นคน ที่ทะลักข้ามพรมแดนจากเมียนมาร์เข้าสู่บังกลาเทศ เพื่อหนีภัยการสู้รบ และการกวาดล้างของทหารเมียนมาร์ ด้วยวิธีการส่งตัวชาวโรฮิงญาเหล่านี้ไปไว้ที่เกาะห่างไกล ในอ่างเบงกอลที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่
“เทน จาร์ ชาร์” คือเกาะแห่งหนึ่ง ในอ่าวเบงกอลที่ไม่มีประชากรอาศัยอยู่เลย รัฐบาลบังกลาเทศตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการส่งผู้อพยพชาวโรฮิงยาราว 70000 คนเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่นี่เป็นการชั่วคราว เมื่อวานทางการบังกลาเทศได้พานักข่าวและคนในพื้นที่แถบนี้ไปดูสถานที่บนเกาะเทนจาร์ ชาร์ โดยอยู่ห่างจากสถานที่พักอาศัยที่ใกล้ที่สุด 2 ชั่วโมง โดยการนั่งเรือเกาะร้างแห่งนี้ไม่มีอาคารแม้แต่หลังเดียวไม่มีผู้คน และไม่มีโทรศัพท์มือถือ และในช่วงฤดูมรสุมเกาะแห่งนี้จะจมอยู่ใต้กระแสน้ำท่วม และเมื่อท้องทะเลเงียบสงบโจรสลัดก็จะออกอาละวาด ลักพาตัวชาวประมงไปเรียกค่าไถ่
การหลั่งไหลของผู้อพยพชาวโรฮิยญาจากรัฐยะไข่ของเมียนมาร์ เข้ามายังพรมแดนบังกลาเทศอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลให้รัฐบาลบังกลาเทศไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องรื้อฟื้นแผนการที่เคยนำมาใช้เมื่อ 2 ปีก่อน และจุดชนวนให้กลุ่มพิทักษ์มนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ด้วยการย้ายผู้อพยพเหล่านี้ไปไว้ที่เกาะดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากแคมป์ที่พักที่บริเวณพรมแดน ที่ผู้ลี้ภัยพำนักอยู่ในปัจจุบันราว 250 กม. ผู้ลี้ภัยเกล่านี้ต้องหนีสถานเดียว หลังกองทัพเมียนมา ใช้นโยบายปราบหนักมาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
เมื่อกลุ่มกองกำลังติดอาวุธบุกโจมตีตำรวจในรัฐยะไข่ โดยรัฐบาลเมียนมาร์ เชื่อว่ามีกลุ่มกองกำลังต่างชาติสนับสนุนชาวโรฮิงญาให้ก่อการร้าย ในเมียนมาร์ ผู้อพยพระลอกใหม่เหล่านี้ ได้เข้าไปเพิ่มจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญา 200,000 คน ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวพรมแดนอยู่แล้ว ทำให้บังกลาเทศซึ่งเป็น 1 ในประเทศยากจนที่สุดในทวีปเอเชียรับมือไม่ไหว พร้อมกล่าวหาว่าผู้อพยพโรฮิงญาเหล่านี้บ้างก็เข้ามาก่ออาชญากรรม และนำเชื้อโรคร้ายมาแพร่ระบาด และแม้การแก้ปัญหา ของรัฐบาลบังกลาเทศด้วยวิธีนี้จะถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ทางการบังกลาเทศก็เดินหน้าใช้วิธีนี้โดยสัญญาจะจัดหาที่พักสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานและปศุสัตว์ ให้ผู้อพยพเหล่านี้ใช้เลี้ยงชีพ
ขณะที่ชาวประมงที่อยู่ใกล้เกาะดังกล่าว ก็รู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย เพราะชาวโรฮิงญาบางคนก็มีประวัติชอบลักขโมยจี้ปล้น หรือข้องเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด และนี่ก็คือปัญหาที่กำลังท้าทายรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี มากที่สุด ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาร์ กับประเทศที่แบกรับผู้อพยพ ชาวโรฮิงญา อย่างบังกลาเทศและมาเลเซีย กำลังเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ .-สำนักข่าวไทย