พนมเปญ 20 ก.ย. – คณะนักวิจัยของกัมพูชากำลังรวบรวมตัวอย่างจากค้างคาวในพื้นที่ทางเหนือของประเทศ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพราะภูมิภาคดังกล่าวเคยพบการระบาดของเชื้อไวรัสที่คล้ายคลึงกันในสัตว์เมื่อหลายสิบปีก่อน
พื้นที่ที่คณะนักวิจัยเข้าไปเก็บตัวอย่างล่าสุดเป็นพื้นที่เดียวกับที่คณะนักวิจัยเคยเก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎ 2 ตัวที่จังหวัดสตรึงแตรงใกล้พรมแดนประเทศลาวในปี 2553 และเก็บไว้ในตู้แช่แข็งของสถาบันปาสเตอร์แห่งกัมพูชา หรือไอพีซี ในกรุงพนมเปญ ผลการทดสอบตัวอย่างค้างคาวแช่แข็งดังกล่าวเมื่อปีก่อนชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 4.6 ล้านคน
ผู้ประสานงานภาคสนามของไอพีซี เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในขณะที่กำลังจับค้างคาวมงกุฎจากตาข่ายที่ใช้ดักจับว่า คณะนักวิจัยหวังว่าผลการศึกษาในครั้งนี้จะช่วยให้ทั่วโลกเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 มากยิ่งขึ้น โดยระบุว่า สายพันธุ์ของสัตว์ที่เชื้อไวรัสใช้อาศัย เช่น ค้างคาว มักไม่แสดงอาการติดเชื้อ แต่เชื้อเหล่านั้นกลับมีอันตรายอย่างมากหากถูกส่งผ่านไปยังมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ
ขณะที่หัวหน้าฝ่ายไวรัสวิทยาของไอพีซี กล่าวว่า สถาบันได้ลงพื้นที่ดังกล่าว 4 ครั้งเพื่อทำการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะได้เบาะแสเกี่ยวกับที่มาและวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสที่เกิดจากค้างคาว และมองว่า มนุษย์คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องโรคโควิด-19 ระบาด เพราะเข้าไปแทรกแซงและทำลายที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ หากมนุษย์พยายามเข้าใกล้สัตว์ป่า ก็จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสจากสัตว์เหล่านั้นมากกว่าปกติ และเปิดโอกาสให้เชื้อแพร่สู่มนุษย์มากขึ้นเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย