โบลิเวีย 16 ก.พ. – ภัยแล้งยาวนานที่เกิดขึ้นในโบลิเวีย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่นั่นอย่างไรบ้าง ไปชมในสารคดีโลก
ชนเผ่าอูรู เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาทางตะวันตกของโบลิเวีย ตามเกาะต่างๆ และริมทะเลสาบพูโพ ส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำประมง แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ทะเลสาบพูโพซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุดอันดับสองของโบลิเวีย รองจากทะเลสาบติติกาก้า แห้งขอดลงจนเห็นพื้นดินก้นทะเลสาบ ชาวบ้านที่หากินด้วยอาชีพทำประมงต้องอพยพไปหางานทำที่อื่น
โดมิงโก ฟลอเรส นายกเทศมนตรีเมืองปูนาคา สังเกตเห็นพื้นที่เกือบ 28 ตารางกิโลเมตรของทะเลสาบพูโพแห้งผากลง และชุมชนที่เคยมีประชากร 636 คน ปัจจุบันลดจำนวนลงเหลือเพียง 143 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนชรา ทำให้เขารู้สึกเศร้าสลดใจ
เกรกอเรีย ฟลอเรส ชาวบ้านเผ่าอูรู บอกว่า ทะเลสาบพูโพเป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากินเพียงแห่งเดียวของที่นี่ เมื่อทะเลสาบแห้งผากลง พวกผู้ชายก็ต้องออกจากหมู่บ้านไปหางานทำที่อื่น
สภาพแห้งแล้งที่ยาวนานในปี 2557 ส่งผลให้สัตว์ในหมู่บ้านล้มตายจำนวนมาก ฝูงปลาหลายล้านตัวนอนตายเกลื่อน เป็นระยะทางยาว 10 กิโลเมตร เหมืองแร่ที่ทำมานานหลายสิบปีเป็นต้นเหตุทำให้แหล่งน้ำเล็กๆ ที่เหลืออยู่เกิดการปนเปื้อน ชาวบ้านเคยผลิตเกลือจากทะเลสาบพูโพแล้วนำไปขาย แต่ตอนนี้ในเกลือมีแร่ต่างๆ ปนเปื้อน ทุกวันนี้พวกผู้ชายออกไปทำงานที่เหมืองเกลือซึ่งอยู่ใกล้เคียง และส่งเงินกลับมาที่บ้านให้ครอบครัวใช้ พร้อมทั้งกลับมาเยี่ยมครอบครัวเป็นระยะ ส่วนผู้หญิงก็หารายได้เสริมด้วยการทำงานฝีมือจากต้นกก แต่ก็ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย วิกฤติขาดแคลนน้ำในโบลิเวียเคยทำให้เกิดสงครามแย่งแหล่งน้ำถึงสองครั้งในปี 2542 และปี 2547
ปัจจุบันโบลิเวียเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกยังทำให้ธารน้ำแข็งหดหายไปร้อยละ 30-50 นับตั้งแต่ทศวรรษหลังปี 2513 และคาดว่าจะหลอมละลายอีกมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า. – สำนักข่าวไทย