By ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ
สำนักข่าว Bloomberg จัดอันดับครอบครัวที่มั่งคั่งที่สุดในโลกปีนี้ โดยยกให้ตระกูล Waltons เจ้าของผู้ก่อตั้งห้าง Walmart ครองอันดับ 1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินถึง 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง
การจัดอันดับครอบครัวร่ำรวยที่สุดในโลกนี้ จะไม่นับรวมผู้ที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยตัวเองเป็นรุ่นแรก หรือเป็นความร่ำรวยเฉพาะตัวคนคนเดียว ไม่ใช่แบบครอบครัว จึงไม่มีชื่อของมหาเศรษฐีอย่าง Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งธุรกิจ e-commerce Amazon.com และ Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft รวมทั้งไม่รวมถึงครอบครัวเศรษฐีที่แผ่กระจายออกไปมากๆ หรือร่ำรวยขึ้นมาอย่างไม่โปร่งใส
มีข้อน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ความมั่งคั่งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นนั้น มักจะมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่พวกเขาสามารถที่จะผ่านช่วงวิกฤติ หรือเอาชนะตลาดที่ล่มสลาย สังคมที่สับสนวุ่นวาย หรือความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจมาได้ ซึ่งในปีนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
ความร่ำรวยของตระกูล Waltons เริ่มจาก Sam Walton (เสียชีวิตปี 1992) ก่อตั้งห้าง Walmart ในปี 1962 ถึงวันนี้ยังเป็นห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายถึง 524,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 และครอบครัวยังคงถือหุ้นใน Walmart อยู่ราวครึ่งหนึ่ง
อันดับ 2 คนทั่วโลกรู้จักแบรนด์ Mars จากอาณาจักรขนมหวาน เช่น ช็อกโกแลต Mars และ Snicker แต่จริงๆ แล้วราวครึ่งหนึ่งของธุรกิจที่ตระกูลนี้เป็นเจ้าของ เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง อย่างแบรนด์อาหารสัตว์ Pedigree / Royal Canin / Cesar แถมพวกเขายังเป็นเจ้าของโรงพยาบาลสัตว์เล็กเกือบ 800 แห่งในสหรัฐ และแคนาดา
ตระกูล Koch ที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 3 ของโลก เริ่มต้นธุรกิจจากบริษัทน้ำมัน แต่ตอนนี้ขยายไปยังอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอ อุตสาหกรรมการเกษตร และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม แม้ครอบครัวมหาเศรษฐีส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ตระกูล Koch ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในปีนี้ทรัพย์สินของพวกเขาลดลงจากปี 2019 ถึงราว 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจอสังหาฯ ในฮ่องกง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง
อันดับ 4 ราชวงศ์ Al Saud ผู้ปกครองประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งคาดกันว่าสมาชิกราชวงศ์มีมากถึงกว่า 15,000 คน นอกจากอุตสาหกรรมน้ำมันแล้ว สมาชิกราชวงศ์ Al Saud ยังก่อตั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำสัญญากับภาครัฐอีกหลายด้าน
อันดับ 5 หลังจาก Dhirubhai Ambani ผู้เป็นบิดา ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2002 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ภรรยาม่ายกับลูกชาย 2 คน ได้เข้ารับช่วงบริหารบริษัท Reliance Industries ปัจจุบัน Mukesh Ambani ลูกชายคนโตเป็นผู้ถือหางเสือธุรกิจในเครือ ซึ่งขยายจากโรงกลั่นน้ำมันไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี สิ่งทอ โทรคมนาคม และอื่น ๆ
อันดับ 6 และ 7 เป็นเจ้าของแบรนด์เนมหรู Hermes และ Chanel ที่โด่งดังทั่วโลก ส่วนอันดับ 8 ตระกูล Johnson (Fidelity) เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งอาณาจักรการลงทุน (Mutual-fund) ชื่อบริษัท Fidelity Investments
อันดับ 9 และ 10 มาจากประเทศเยอรมนี โดยบริษัทยา Boehringer Ingelheim มีประวัติย้อนหลังไปถึง 135 ปี และปัจจุบันตระกูล Boehringer, Von Baumbach ยังคงถือหุ้นเกือบทั้งหมดของบริษัท ส่วนสองพี่น้องตระกูล Albrecht รับช่วงกิจการร้านของชำจากบิดามาขยายเป็นเครือซูเปอร์มาร์เก็ต Aldi ซึ่งปัจจุบันมีสาขามากกว่า 10,000 แห่ง
Bloomberg ยังจัดอันดับเฉพาะสำหรับมหาเศรษฐีที่อยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีด้วย โดยอันดับ 1 Jeff Bezos 2 Bill Gates 3 Mark Zuckerberg 4 Elon Musk และ 5 Steve Ballmer อดีต CEO Microsoft ขณะที่ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group อยู่อันดับ 10 อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีทรัพย์สินลดลงจากปีก่อน