กรุงเทพฯ 28 พ.ย. – สหประชาชาติ (UN) จัดงานวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อนำเสนอปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในภูมิภาค พร้อมชี้แนะเแนวทางการแก้ปัญหา นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัดกิจกรรมเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ เผยว่าปัจจุบันผู้หญิงสมรสแล้วทั่วโลก ถูกสามีทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศมากถึงกว่า 1 ใน 3 ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูง ในขณะที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีปัญหาการละเมิดสิทธิสตรีเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยพบว่ามีผู้หญิงที่แต่งงานแล้วตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางร่างกายมากถึงกว่าร้อยละ 50-60 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก นอกจากนี้ หลายประเทศในภูมิภาคนี้ ยังต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการเยียวยาเหยื่อผู้ถูกกระทำ ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ ทั้งยังขัดขวางการพัฒนาประเทศโดยรวม ทั้งนี้การละเมิดสิทธิสตรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีสาเหตุหลักมาจากค่านิยมทางสังคมแต่ดั้งเดิมของหลายประเทศในแถบนี้ ที่ให้สิทธิเพศชายเป็นใหญ่เหนือเพศหญิง รวมทั้งระบบยุติธรรมขาดประสิทธิภาพ
ดร.มิวะ คาโตะ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกล่าวว่า แต่ละประเทศจำเป็นต้องพัฒนาและส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ โดยจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงระบบการศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต่างๆ พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อสิทธิสตรี ในขณะที่ภาคธุรกิจก็ควรให้ความสำคัญกับการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนเหล่านี้ จะส่งผลให้ประชากรเพศหญิงในภูมิภาคมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยให้แต่ละประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนา ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ตามกรอบของสหประชาชาติ
ด้าน ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล อนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยว่า กำลังมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปได้ด้วยดี ผลงานที่เด่นชัด คือ การบรรจุประเด็นการจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 รวมทั้งการประกาศใช้ พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558.- สำนักข่าวไทย