กรุงเทพฯ 15 ก.ค.- แรงงานสิ่งทอทั่วเอเชียเผยว่า นายจ้างใช้เรื่องความต้องการสิ่งทอทรุดหนักเพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นข้ออ้างในการกำจัดสหภาพแรงงาน
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ศูนย์กลางการผลิตสิ่งทอในจีน บังกลาเทศ อินเดีย กัมพูชาและเมียนมาถูกลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อมูลค่ามหาศาล แรงงานถูกเลิกจ้างจำนวนมาก แรงงานเผยว่า นายจ้างฉวยโอกาสนี้กำจัดสหภาพที่เรียกร้องขอเพิ่มค่าแรงและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น
สตรีวัย 49 ปี ผู้นำสหภาพแรงงานในรัฐกรณาฏกะ ทางใต้ของอินเดีย นั่งขัดสมาธิหน้าโรงงานทุกวัน ประท้วงที่โรงงานปิดตัวตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ลอยแพคนทั้งหมด 1,200 คน ในจำนวนนี้ 900 คนเป็นสมาชิกสหภาพ เธอเผยว่า ตรากตรำทำงานในโรงงานแห่งนี้มานาน 10 ปี รับค่าแรงวันละ 348 รูปี (ราว 145 บาท) โรงงานต้องการกำจัดสหภาพมานานแล้ว จึงฉวยโอกาสใช้โควิด-19 เป็นข้ออ้าง เธอกล่าวหาโรงงานว่า เลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานในอินเดียชี้ว่า บริษัทแม่ของโรงงานแห่งนี้เป็นผู้ผลิตสิ่งทอเก่าแก่ที่สุดในรัฐกรณาฏกะ สถานที่ตั้งโรงงานสิ่งทอถึง 1 ใน 5 ของประเทศ บริษัทเลือกปิดโรงงานแห่งนี้ทั้งที่มีโรงงานกว่า 20 โรง เพราะเป็นแห่งเดียวที่มีสหภาพ
ด้านกลุ่มสิทธิแรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศเผยว่า มีแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 100,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกสหภาพ โรงงานจำนวนมากไม่พอใจการเคลื่อนไหวของสหภาพ พยายามโน้มน้าวแรงงานไม่ให้เข้าร่วมสหภาพ ข่มขู่หรือไล่ออกแกนนำที่มีปากเสียงมากที่สุด วิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้เปิดช่องให้นายจ้างใช้วิธีนี้กว้างขวางยิ่งขึ้น ส่วนที่เมียนมา แรงงานสิ่งทอโรงงานหนึ่งถูกไล่ออกเกือบ 300 คน แรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพจึงได้เขียนจดหมายขอความเห็นใจถึงผู้ก่อตั้งอินดิเท็กซ์ที่เป็นเจ้าของซาร่า แบรนด์เสื้อผ้าดังของสเปนว่า คนระดับมหาเศรษฐีคงไม่ต้องการหากำไรจากโรคระบาดด้วยการกำจัดสหภาพแรงงาน ขณะที่ในกัมพูชา ตัวแทนสหภาพคนหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเดือนเมษายน ประท้วงการเลิกจ้างแรงงานหลายสิบคนในโรงงานกระเป๋าหนังชานกรุงพนมเปญ เธอถูกคุมขังในอีก 48 ชั่วโมงต่อมาด้วยข้อหายุยง ก่อนได้รับการปล่อยตัวในอีก 55 วัน แต่ยังถูกตั้งข้อหาอยู่.-สำนักข่าวไทย