ออสเตรเลีย 10 มิ.ย. – เป็นใครก็ต้องตื่นตา ทำท่าตะลึงแทบลืมหายใจ เมื่อได้เห็นภาพถ่ายจากโดรนของนักวิจัยที่จับภาพเต่าทะเลฝูงใหญ่ทำรังวางไข่ใกล้กับแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก
สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ภาพที่ถ่ายด้วยโดรน โดยทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลียถ่ายเอาไว้ เป็นภาพเต่าทะเลจำนวนนับพันนับหมื่นตัวทำรังวางไข่บนเกาะแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับ “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” (Great Barrier Reef) หินปะการังหรือแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
ทีมนักวิจัยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า เทคโนโลยีโดรนช่วยเพิ่มความแม่นยำในการสำรวจจำนวนเต่าทะเลที่ทำรังวางไข่บนเกาะเรน ( Raine Island) เกาะปะการังที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาศัยของฝูงเตาตนุที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกาะเรนนี้ ตั้งอยู่บนขอบด้านนอกของแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทีมนักวิจัยออสเตรเลียใช้โดรนบินวนเหนือบริเวณเกาะเรน เพื่อสำรวจจำนวนฝูงเต่าตนุ สัตว์ทะเลที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ผลที่ได้คือภาพถ่ายของเต่าทะเลที่กำลังพากันเดินต้วมเตี้ยมๆ ขึ้นฝั่งเพื่อทำรังวางไข่ ซึ่งนับจำนวนได้มากถึง 64,000 ตัว
เมื่อก่อนในการนับจำนวนเต่า นักวิจัยจะใช้วิธีระบายสีเป็นแถบสีขาวลงบนกระดองเต่าแล้วก็นับจำนวน โดยนักวิจัยนั่งอยู่บนเรือลำเล็กๆ วนล่องไปตามชายฝั่ง มองดูหลังกระดองเต่า ทั้งที่มีแถบสีขาวและไม่มี ก็นับกันไป นับได้ตามจำนวนที่มองเห็น แต่คราวนี้มีเทคโนโลยีโดรนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจับภาพและนับจำนวน ทำให้ทีมนักวิจัยสามารถวิเคราะห์ภาพแต่ละเฟรมในห้องแล็บและคำนวณจำนวนประชากรเต่าทะเลได้อย่างแม่นยำมากขึ้นหลายเท่า
แนวปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่เลื่องชื่อของโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2524 เป็นสถานที่ที่บรรดานักดำน้ำทั่วโลกยกให้เป็นแหล่งธรรมชาติทางทะเลที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก. – สำนักข่าวไทย