วอชิงตัน 18 ก.พ.- นักวิจัยยอมรับว่า ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าไวรัสโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่นอกตัวคนได้นานเท่าไร เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ได้แต่ประเมินจากการศึกษาไวรัสในตระกูลเดียวกัน
ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐหรือซีดีซี (CDC) ระบุว่า ไวรัสโคโรนาเป็นตระกูลไวรัสที่มักพบในสัตว์ มีบางกรณีที่พบไม่บ่อยเป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (zoonotic) เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบว่า สัตว์ชนิดใดเป็นพาหะของไวรัสใหม่ที่เริ่มระบาดจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน ผลการศึกษาก่อนหน้านี้สันนิษฐานว่า คนติดเชื้อไวรัสโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือเมอร์สจากอูฐ และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์สจากชะมด ซีดีซีเผยว่า มีความเป็นไปได้ว่าคนอาจติดโรคโควิด-19 จากการสัมผัสสิ่งที่มีเชื้อไวรัสอยู่ แล้วไปป้ายตา จมูก ปาก แต่ก็ไม่น่าจะเป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อเหมือนติดจากละอองน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย
ดร.ชาร์ล ชู อาจารย์ด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกอ้างผลการศึกษาที่มีอยู่ในขณะนี้ว่า ในเบื้องต้นอยากอ้างอิงกับไวรัสโรคซาร์สเพราะมีความใกล้เคียงกับไวรัสโรคโควิด-19 ถึงร้อยละ 80 ไวรัสโรคซาร์สามารถอยู่นอกสิ่งมีชีวิตได้นานตั้งแต่ 5 นาทีจนถึง 9 วันหากไม่ถูกฆ่าเชื้อ อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่จะนำผลการศึกษาที่มีอยู่มาใช้กับไวรัสใหม่เพราะสายพันธุ์แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสใหม่มากนัก.- สำนักข่าวไทย