ปารีส 30 ต.ค. – นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า พื้นที่ริมฝั่งทะเลทั่วโลก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 300 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากน้ำท่วมภายในปี 2050 และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามมากแค่ไหนในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นักวิทยาศาสตร์กล่าวในรายงานผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ว่า ประเทศในทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบจากสตอร์มเซิร์จ หรือ คลื่นพายุซัดฝั่ง ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอันเนื่องมาจากพายุไซโคลนที่มีความรุนแรงและระดับน้ำทะเลที่สูงเพิ่มขึ้น มากกว่าสองในสามของประชากรที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบที่ว่านี้อยู่ในประเทศไทย จีน บังกลาเทศ อินเดีย เวียดนามและอินโดนีเซีย เมืองขนาดใหญ่ที่อยู่ในความเสี่ยงได้แก่ กรุงเทพ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ สุราบายา ธากา มุมไบ โฮจิมินห์และโอซากา ประชากรหลายล้านคนจะพบว่า พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม นักวิทยาศาสตร์ ของไคลเมท เซ็นทรัล องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรดด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีสำนักงานในสหรัฐ เปิดเผยว่า ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการศึกษาซึ่งแสดงให้เห็นว่า การคาดหมายระดับน้ำทะเลไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่กลับพบว่าประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมีจำนวนมากกว่าที่เคยเข้าใจในอดีต นักวิทยาศาสตร์กล่าวด้วยว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ประชากรโลกได้รับการคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้น 2 พันล้านคนภายในปี 2050 และอีก 1 พันล้านคนภายในปี 2100 ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ที่อยู่ตามแนวชายฝั่งทะเล แต่ประชากรเป็นจำนวนมากอาจจะต้องถูกบังคับให้ปรับตัวหรือย้ายออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม.-สำนักข่าวไทย