คอกซ์บาซาร์ 20 ต.ค. – เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าววันนี้ว่า ผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลายพันคน ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศ ตกลงที่จะย้ายไปอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งในอ่าวเบงกอล แม้จะมีความหวาดกลัวว่า พื้นที่ดังกล่าวมักเกิดน้ำท่วมบ่อย ๆ
นายมาห์บับ อาลัม คณะกรรมาธิการด้านผู้อพยพของบังกลาเทศกล่าวว่า คณะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องการย้ายที่พักพิงใหม่จะถูกส่งไปยังเกาะพาชาน ชาร์ ในอีก 2-3 วันข้างหน้านี้ เขากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ผู้อพยพโรฮิงญาราว 6,000-7,000 คน แสดงความประสงค์จะย้ายไปอยู่ที่เกาะพาชาน ชาร์ และจำนวนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เขาไม่ได้ระบุว่า จะย้ายผู้อพยพไปเมื่อใด แต่นายทหารเรือระดับสูง ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนเกาะดังกล่าวระบุว่า จะเริ่มการย้ายผู้อพยพได้ในเดือนธันวาคมนี้ โดยจะทะยอยเดินทางวันละ 500 คน รัฐบาลบังกลาเทศต้องการจะย้ายผู้อพยพ 100,000 คน ไปยังเกาะเล็ก ๆ ดังกล่าวมานานแล้ว โดยระบุว่า จะช่วยลดความกดดันออกจากค่ายผู้อพยพที่อยู่บริเวณพรมแดน ที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่เกือบ 1 ล้านคน ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน อพยพจากเมียนมามายังบังกลาเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 หลังจากทางการเมียนมาใช้ทหารบุกกวาดล้างในรัฐยะไข่ ผู้อพยพเหล่านี้เดินทางมาสมทบกับผู้อพยพโรฮิงญาอีก 200,000 คน ที่อยู่ในเต็นท์ชั่วคราวในเมืองคอกซ์บาซาร์อยู่แล้ว เกาะดังกล่าวใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมงจากแผ่นดินใหญ่ แต่เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อย กลุ่มปกป้องสิทธมนุษยชน แสดงความเป็นห่วงว่า เกาะแห่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นเพียง 20 ปี อาจจะไม่สามารถต้านทานพายุในช่วงฤดูมรสุมได้.-สำนักข่าวไทย