เทือกเขาหิมาลัย 22 ส.ค.- สารคดีโลกวันนี้มีเรื่องราวการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยที่กำลังวิกฤต
ภาพถ่ายจากดาวเทียมจารกรรมในสมัยสงครามเย็นช่วงระหว่างปี 2514 ถึงปี 2529 เผยให้คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเห็นภาพการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ จากการนำภาพถ่ายดาวเทียมสมัยก่อนมาเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2543 และปี 2559 พบว่า นับตั้งแต่ปี 2543 น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายถึงปีละร่วม 8,300 ล้านตัน เทียบกับช่วงปี 2518 และปี 2543 ที่มีการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเฉลี่ยปีละ 4,300 ล้านตัน
จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเหลืออยู่เพียง 72 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อปี 2518 เฉลี่ยน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายลงร้อยละ 1 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษปี 2543 ปัญหาน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้คนเกือบ 1,600 ล้านคนในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและน้ำยังมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร เกษตรกรจำนวนมากต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่เคยทำกินเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีความพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำแข็ง 1 ใน 3 บนเทือกเขาหิมาลัยก็จะต้องละลายหายไปอยู่ดี และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเกือบครึ่งหนึ่งจะหายไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายอย่างรวดเร็ว มีทั้งจากปัญหามลพิษ แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้น้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายอย่างรวดเร็วคือปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่จะตามมาอีกคือปัญหาน้ำท่วมหนัก สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย