โซล 11 มิ.ย.- นักวิเคราะห์ระบุว่า หนึ่งปีก่อนเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐและนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือจับมือกันครั้งแรกต่อหน้าคนทั้งโลกในการประชุมสุดยอด หรือซัมมิตครั้งแรกที่สิงคโปร์ ทั้งคู่รับปากว่าจะเปลี่ยนแปลงและสร้างความคืบหน้า แต่ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันตั้งแต่ซัมมิตครั้งที่สองที่เวียดนามล้มเหลว
นายอังเดร แลนคอฟ อาจารย์มหาวิทยาลัยกุกมินในเกาหลีใต้กล่าวว่า ทันทีที่ซัมมิตสิงคโปร์ปิดฉากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน โลกก็เต็มไปด้วยกระแสคาดหวังเพ้อฝันและน่าขำ แต่ตอนนี้เริ่มชัดแล้วว่าเกาหลีเหนือจะไม่ยอมยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งที่ซัมมิตสิงคโปร์เกิดขึ้นได้เพราะนายคิมประกาศว่าจะยุติการทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล เช่นเดียวกับนายแฮร์รี คาเซียนิส แห่งศูนย์เพื่อประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่มองว่า ความหวังและการคาดการณ์ในแง่ดีได้กลายมาเป็นความไม่แน่นอนอย่างเห็นได้ชัด ภาวะทางตันในขณะนี้จะดำเนินต่อไปตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ตระหนักถึงต้นตอของปัญหา สหรัฐเรียกร้องที่ซัมมิตฮานอยให้เกาหลีเหนือยอมจำนนทั้งทางทหารและการทูตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่เกาหลีเหนือก็หวังให้นานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเพียงแค่เกาหลีเหนือปิดศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ยองเบียงเท่านั้น
ยูเรเซียกรุ๊ป กลุ่มที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองคาดว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีซัมมิตครั้งที่สามในปีนี้ ผู้นำทั้งสองคงจะยื้อภาวะทางตันในขณะนี้ต่อไปเพื่อเลี่ยงการล้มกระดานไปเลย ขณะที่นายโก มยงฮยุน นักวิเคราะห์สถาบันอาซานเพื่อนโยบายศึกษาในเกาหลีใต้มองว่า สหรัฐหวังจะใช้มาตรการคว่ำบาตรกดดันให้เกาหลีเหนือยอมอ่อนข้อ แต่ดูเหมือนเกาหลีเหนือจะย้อนกลับไปใช้วิธียั่วยุแบบเดิม ๆ อีกครั้ง นายแลนคอฟ อาจารย์มหาวิทยาลัยกุกมินเห็นเช่นเดียวกันว่า การยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้เมื่อเดือนก่อน ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นการเตือนประธานาธิบดีทรัมป์เบา ๆ ว่าเกาหลีเหนือยังอยู่และพร้อมเจรจา แต่หากมีซัมมิตครั้งที่สามจริงทั้งสองฝ่ายคงไม่ยอมอ่อนข้อกันง่าย ๆ.- สำนักข่าวไทย