ฟรีทาวน์ 1 เม.ย.- เซียร์ราลีโอน ประเทศในแอฟริกาตะวันตกสั่งห้ามทำอุตสาหกรรมประมงในน่านน้ำของประเทศเป็นเวลาหนึ่งเดือนและห้ามบริษัทประมงขนาดใหญ่ส่งออกปลาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเช่นเดียวกัน เพื่ออนุรักษ์จำนวนปลาในประเทศที่ถูกลอบจับไปมากมาย
กระทรวงประมงเซียราลีโอนออกแถลงการณ์วันนี้ว่า คำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน ระหว่างนี้ขอให้บริษัทอุตสาหกรรมประมงเก็บรักษาปลาที่มีอยู่ไว้ในห้องเย็นไปก่อน ข้อมูลของกลุ่มสิ่งแวดล้อมกรีนพีซระบุว่า การลอบทำประมงและการประมงที่ไม่แจ้งอย่างเป็นทางการทำให้ประเทศในแอฟริกาตะวันตกอย่างเซียร์ราลีโอน มอริเตเนีย เซเนกัล แกมเบีย กินีบิสเซา และกินี เสียหายปีละ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 72,963 ล้านบาท) ระหว่างปี 2553-2559 ด้านประธานสมาคมชาวประมงแห่งชาติเซียร์ราลีโอนเผยว่า ยินดีที่รัฐบาลมีประกาศดังกล่าวหลังจากชาวประมงร้องเรียนไปหลายครั้ง ขอให้รัฐบาลบังคับใช้คำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด พร้อมกับกล่าวโทษเรือประมงขนาดใหญ่จากจีนและเกาหลีใต้ว่าทำให้ตาข่ายจับปลาของชาวประมงเสียหาย และทำให้ปริมาณปลาของประเทศหดหาย คำตอบระยะยาวในเรื่องนี้คือ การนำระบบจัดการอุตสาหกรรมประมงที่ถูกกฎหมาย เป็นธรรม และยั่งยืนมาใช้ สมาคมชาวประมงพร้อมช่วยทางการลาดตระเวนตรวจตราและจัดทำกรอบวิธีการทำประมงที่ยั่งยืน
โครงการ Sea Around Us ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียในแคนาดา ร่วมกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ของสหรัฐและองค์กรอื่นอีก 5 แห่งเผยในปี 2560 ว่า ปลาที่เรือประมงต่างชาติขนาดใหญ่จับในน่านน้ำเซียร์ราลีโอนเป็นปลาผิดกฎหมายถึงร้อยละ 30 โดยในช่วง 10 ปีมานี้เรือต่างชาติขนาดใหญ่ลอบจับปลาเองหรือว่าจ้างให้ชาวประมงรายย่อยลอบจับให้ การลาดตระเวนตรวจตราที่ลดลงเพราะถูกตัดงบการพัฒนาเปิดช่องให้มีการลอบจับปลามากขึ้น เฉพาะปี 2558 ปีเดียว มีปลาถูกลอบจับถึง 42,000 ตัน.-สำนักข่าวไทย