จาการ์ตา 19 มี.ค.- นักการเมืองอินโดนีเซียที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเดือนหน้าพากันชูนโยบายแก้ระบบการศึกษาที่ถูกโทษในวงกว้างว่าเป็นต้นเหตุทำให้เยาวชนขาดทักษะในการทำงาน และตกงานเป็นจำนวนมาก
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดที่ลงเลือกตั้งอีกสมัยในวันที่ 17 เมษายนนี้ รับปากจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการบริหารประเทศเป็นสมัยที่สอง หลังจากมุ่งปรับปรุงสาธารณูปโภคอย่างถนน รถไฟ และท่าอากาศยานตั้งแต่รับตำแหน่งสมัยแรกในปี 2557 รัฐบาลของเขาจะทุ่มงบประมาณ 1,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 38,620 ล้านบาท) ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากสามปีที่ผ่านมาถึงสองเท่า ปรับปรุงวิทยาลัยอาชีวศึกษา 14,000 แห่งที่มีนักศึกษา 320,000 คน หวังเอาอย่างระบบพัฒนาทักษะของเยอรมนี แต่ถูกนายซานเดียกา อูโน ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับ พล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต โจมตีในการโต้วาทีผู้สมัครรองประธานาธิบดีเมื่อวันอาทิตย์ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่ 15-16 ของโลกอย่างอินโดนีเซียไม่มีงานให้คนหนุ่มสาวทำ เด็กจบอาชีวะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในกลุ่มคนว่างงาน 7 ล้านคนทั่วประเทศ หากได้รับเลือกตั้งเขาจะลดจำนวนเยาวชนว่างงานลงให้ได้ถึง 2 ล้านคน
อินโดนีเซียได้เปรียบเรื่องมีคนวัยแรงงานจำนวนมาก แต่ร้อยละ 90 ของแรงงาน 131 ล้านคนจบการศึกษาต่ำกว่าระดับวิทยาลัย และกว่าครึ่งทำงานนอกระบบ ธนาคารโลกระบุว่า คนจบการศึกษาในอินโดนีเซียกว่าร้อยละ 55 เขียนอ่านไม่แตก คือไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้งาน ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี (OECD) จัดให้อินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 62 จากทั้งหมด 72 อันดับในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือปิซา (PISA) ที่วัดทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และการอ่านของเด็กวัย 15 ปี ซึ่งตามสากลถือว่าเป็นวัยจบการศึกษาภาคบังคับ
ประธานสมาคมนายจ้างอินโดนีเซียชี้ว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาในอินโดนีเซียตามไม่ทันและไม่สอนทักษะอย่างที่นายจ้างต้องการ ทำให้นายจ้างต้องฝึกทักษะให้ใหม่ทุกครั้งที่รับเข้าทำงาน ขณะที่ผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ถือว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตายอมรับว่า การไล่ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องยากมาก วิชาบริหารงานสำนักงานที่นำมาแทนวิชาเลขานุการสอนยังคงสอนเรื่องการใช้เครื่องโทรสารหรือแม้แต่เครื่องพิมพ์ดีด แต่ไม่มีการสอนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และระบบอัตโนมัติให้แก่นักศึกษา.- สำนักข่าวไทย