โตเกียว 5 ก.พ.- นายทาโร อาโสะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นชี้แจงเรื่องที่กล่าวโทษผู้หญิงว่าไม่ยอมมีลูก ทำให้ประชากรประเทศลดน้อยลง
นายอาโสะวัย 78 ปี กล่าวที่จังหวัดฟุกุโอกะ ทางใต้ของประเทศเมื่อวันอาทิตย์ว่า คนแปลกประหลาดจำนวนมากชอบโทษว่าคนชราทำให้ญี่ปุ่นมีประชากรน้อยลง เพิ่มภาระด้านสวัสดิการสังคม ทั้งที่จริงไม่ใช่ ปัญหาเกิดจากคนที่ไม่ยอมคลอดลูกมากกว่า ต่อมาสมาชิกสภาฝ่ายค้านคนหนึ่งได้จี้ให้เขาชี้แจงเรื่องนี้ระหว่างการอภิปรายของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณเมื่อวันจันทร์ นายอาโสะจึงกล่าวว่า จะถอนคำพูดหากทำให้เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่เขาต้องการสื่อ แต่ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เขาต้องการสื่อคืออะไร
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (super-aged nation) ประชากรกว่า 1 ใน 5 อายุเกิน 65 ปี และมีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 ข้อมูลของกระทรวงสุขภาพและแรงงานญี่ปุ่นเผยว่า ปี 2560 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 950,000 คน แต่มีคนเสียชีวิตมากถึง 1.3 ล้านคน เฉพาะกรุงโตเกียวที่มีประชากรกว่า 9 ล้านคน อัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในบรรดา 47 จังหวัดทั่วประเทศ สตรีหนึ่งคนมีลูกเพียง 1.17 คน ถึงจะน้อยแต่ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนสถานที่รับเลี้ยงเด็กช่วงกลางวัน เด็กที่ลงชื่อสำรองมีไม่ต่ำกว่า 5,400 คน หรือเกือบหนึ่งในสามของเด็กลงชื่อสำรองทั้งประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการจูงใจให้สตรีมีลูกตั้งแต่คริสต์ทศวรษหลังปี 1990 แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีสตรีญี่ปุ่นวัย 30-34 ปี กลับมาทำงานหลังคลอดลูกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็น 75 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ออกรายงานในปี 2560 ว่า สตรีกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต้องรับเงินเดือนต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง ขณะที่ดัชนีช่องว่างทางเพศของที่ประชุมเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมจัดให้ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 110 จากทั้งหมด 149 ประเทศ ส่วนรายงานของสหภาพรัฐสภา (ไอพียู) เผยว่า ญี่ปุ่นมีรัฐมนตรีที่เป็นสตรีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย