ลอสแอนเจลิส 14 มิ.ย.- นักจิตเวชแนะให้ประกาศทำสงครามกับการฆ่าตัวตายเหมือนที่ประกาศกับโรคร้ายแรงอื่น ๆ เพราะอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยในปัจจุบันแทบไม่ลดลงจากเมื่อศตวรรษก่อน
ข่าวการฆ่าตัวตายของเคท สเปด ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวอเมริกันและแอนโธนี บอร์เดน พิธีกรรายการตระเวนชิมอาหารทั่วโลกของซีเอ็นเอ็นเมื่อไม่นานมานี้ทำให้การฆ่าตัวตายกลับมาเป็นประเด็นถกเถียงของสังคมอีกครั้ง ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีคนฆ่าตัวตายกว่า 800,000 คน การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของของกลุ่มคนวัย 15-29 ปี เฉพาะสหรัฐมีคนฆ่าตัวตาย 45,000 คนในปี 2559 เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 จากปี 2542
ริชาร์ด ฟรีดแมน อาจารย์จิตเวช มหาวิทยาลัยคอร์เนลเขียนบทความแสดงความเห็นในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า อัตราการฆ่าตัวตายผันผวนไปตามเวลา มักเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมมีปัญหา แต่สิ่งที่ต้องหาคำตอบให้ได้คือเหตุใดจึงแทบไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหานี้ อัตราการฆ่าตัวตายเมื่อปีก่อนอยู่ที่ 13.7 ต่อประชากรทุก 100,000 คน แทบไม่ต่างจากเมื่อศตวรรษก่อน ถึงเวลาที่จะต้องประกาศทำสงครามกับการฆ่าตัวตายเหมือนที่ประกาศกับโรคร้ายแรงอื่น ๆ เพื่อให้มีการทุ่มเทวิจัยและหาทางป้องกัน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา แม้องค์การอนามัยโลกระบุว่า สามในสี่ของการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม สาเหตุที่ทำให้คนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองมีหลากหลายทั้งปัญหาสุขภาพจิตไปจนถึงการสูญเสียหรือเลียนแบบคนดัง หลายคนอาจส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแล้วแต่คนรอบข้างไม่สังเกต การฝึกบุคคลากรทางการแพทย์ที่จะสังเกตการณ์และให้การบำบัดทางจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพราะคนที่เคยฆ่าตัวตายมาก่อนมักมีความเสี่ยงสูงที่จะทำอีก ส่วนการเข้าถึงปืนได้ง่ายก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนฆ่าตัวตายมากขึ้น.- สำนักข่าวไทย