ลอนดอน 4 ต.ค.- องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า 10 ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันเพียงร้อยละ 2.5 ของโลกกำลังรับดูแลผู้ลี้ภัยกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ขณะที่ประเทศร่ำรวยกลับเห็นแก่ตัว
องค์การนิรโทษกรรมสากลออกรายงานเรื่องการแก้ไขวิกฤตผู้อพยพโลก: จากการเลี่ยงมาเป็นการร่วมรับผิดชอบว่า ทั่วโลกมีผู้ลี้ภัยมากถึง 21 ล้านคน ร้อยละ 56 อาศัยอยู่ใน 10 ประเทศที่ไม่มีทางเลือกเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านของประเทศที่เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัย สถานการณ์ขณะนี้ทำให้คนหลายล้านคนที่หนีสงครามและการเข่นฆ่าในซีเรีย เซาท์ซูดาน อัฟกานิสถาน และอิรักต้องเผชิญกับความทุกข์ยากเกินทน ถึงเวลาที่บรรดาผู้นำจะต้องหารือเรื่องนี้อย่างจริงจังและสร้างสรรค์
รายงานอ้างสถิติของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติว่า จอร์แดนรับดูแลผู้ลี้ภัยมากที่สุดกว่า 2.7 ล้านคน ตามด้วยตุรกีกว่า 2.5 ล้านคน ปากีสถาน 1.6 ล้านคน และเลบานอนกว่า 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีอิหร่าน 979,400 คน เอธิโอเปีย 736,100 คน เคนยา 553,900 คน ยูกันดา 477,200 คน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 383,100 คน และชาด 369,500 คน ขณะที่ประเทศร่ำรวยกลับช่วยเหลือน้อยที่สุด ลำพังการส่งเงินบริจาคไปเพื่อให้ผู้ลี้ภัยมีสภาพความเป็นอยู่แบบเดิมไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่กลับจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ประเทศร่ำรวยทุกประเทศจะต้องรับผู้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในประเทศตามสัดส่วนของขนาดประเทศ ฐานะ และอัตราการว่างงาน จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย