อูลานบาตอร์ 23 ก.พ.- องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) รายงานว่า หมอกควันที่ปกคลุมกรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลียเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก
ยูนิเซฟและศูนย์สาธารณสุขแห่งชาติมองโกเลียศึกษาพบว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมหมอกควันที่จะทำให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขตามมา โดยพบว่าหากยังไม่รีบจัดการจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขพุ่งขึ้นราวหนึ่งในสามภายในปี 2568 และคิดเป็นปีละ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (64 ล้านบาท) ในเมืองหลวงมองโกเลีย เนื่องจากมีแนวโน้มปัญหาทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย โรคปอดอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหืด พัฒนาการทางสมองช้า และเสียชีวิต ยูนิเซฟและศูนย์สาธารณสุขพบว่า ระดับมลภาวะในกรุงอูลานบาตอร์เคยอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่กว่าเมืองอื่นๆ เช่น กรุงปักกิ่ง และนิวเดลี ดัชนีวัดค่าฝุ่นละอองในอากาศพีเอ็ม2.5 พบว่าสูงถึง 3,320 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเมื่อวันที่ 30 มกราคม โดยที่กรุงอูลานบาตอร์เมื่อเดือนมกราคมมีค่าพีเอ็ม2.5 อยู่ที่ 206 ไมโครกรัม องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ค่าพีเอ็ม2.5 ไม่ควรเกินกว่า 10 ไมโครกรัม โดยที่กรุงปักกิ่งของจีน มีค่าพีเอ็ม2.5 อยู่ที่ 34 ไมโครกรัมเมื่อมกราคมที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 70.7 จากปีก่อนนั้น .- สำนักข่าวไทย