ญี่ปุ่น 14 ธ.ค.-การที่ญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวทำให้ประสบปัญหาโรงพยาบาลไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ผู้สูงวัยหลายคนจึงเลือกจะเสียชีวิตที่บ้านมากกว่าโรงพยาบาล
ประชากรสูงวัยในญี่ปุ่นกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับจำนวนโรงพยาบาลที่มีเตียงไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลที่มีราคาสูงทำให้ผู้สูงอายุบางคนคนเลือกที่จะใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่บ้านแทนการไปโรงพยาบาล อย่างเช่นคุณตาคัตสึโอะ ไซโตะ วัย 89 ปีซึ่งใช้ชีวิตตามลำพังอยู่บนอพาร์ทเมนต์ชั้นห้าในกรุงโตเกียว ที่ล้มป่วยด้วยโรคลูคีเมียเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่คุณตาปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะต้องรอคิวนานมาก
อย่างไรก็ดี ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงมีความคิดว่าการไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลปลอดภัยมากกว่าการอยู่ที่บ้านและไม่ต้องการจะเป็นภาระของลูกหลาน คนแก่ถึงร้อยละ 80 จึงเลือกจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แต่ในปัจจุบันพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรญี่ปุ่นเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีทำให้เตียงสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ คาดว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยสูงวัยเกินจำนวนเตียงกว่า 470,000 คน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่นจะใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่โรงพยาบาลนานขึ้น จากการสำรวจพบว่าชาวญี่ปุ่นจะใช้เวลาช่วงสุดท้ายก่อนเสียชีวิตเฉลี่ย 16.5 วัน ขณะที่ชาวอังกฤษใช้เวลาเพียง 6 วันเท่านั้น
คุณตายาสุฮิโร ซาโตะ ผู้ป่วยมะเร็งปอดเป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกจะจากไปอย่างสงบที่บ้านของตัวเองโดยมีหมอ ผู้ดูแล และสัปเหร่อเท่านั้นที่อยู่เคียงข้างในวาระสุดท้าย ขณะที่คุณลุงมิตสึรุ นิอินูมะ วัย 69 ปี เลือกจะตายอยู่ที่บ้านเพราะอยากใช้เวลาอยู่กับหลานรักและสุนัขตัวโปรด พร้อมให้เหตุผลว่าการได้อยู่ที่บ้านรู้สึกสบายและผ่อนคลายมากกว่าอยู่ในโรงพยาบาล.-สำนักข่าวไทย