สิงคโปร์ 11 ต.ค.-ทีมนักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ไขปริศนาที่มาของกลิ่นหอมฉุนในทุเรียน คาดหวังต่อยอดสร้างทุเรียนไร้กลิ่น น้ำตาลน้อย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งชาวสิงคโปร์ 5 คน นำโดยศาสตราจารย์บิน เตะห์ จากวิทยาลัยการแพทย์ดยุค-เอ็นยูเอส ร่วมกันศึกษาวิจัยอยู่ 3 ปี จนสามารถทำแผนที่หรือโครงสร้างของกลุ่มพันธุกรรมหรือยีนของทุเรียนสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกตี พิมพ์ผลงานลงวารสารวิชาการเนเจอร์ เจเนติกส์แล้ว ผลจากการวิเคราะห์พบว่ามีการผลิตสารกำมะถันในทุเรียนระดับเข้มข้น โดยเฉพาะช่วงทุเรียนเริ่มสุก ซึ่งตรงกับความเห็นของหลายคนที่ว่ากลิ่นทุเรียนมีลักษณะคล้ายกำมะถันและที่ทุเรียนมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวก็เพื่อช่วยดึงดูดสัตว์มากินแล้วช่วยการแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป
การวิจัยยังพบภูมิหลังทุเรียนที่นับย้อนกลับไปกว่า 65 ล้านปีก่อน และเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับต้นโกโก้ที่นำผลมาทำช็อกโกแลต การศึกษายังพบด้วยว่ากลุ่มยีนที่ควบคุมสารกำมะมะถัน พบมีมากในทุเรียนพันธุ์มูซาง คิง ที่ปลูกในมาเลเซีย มากกว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทย
ศาสตราจารย์เตะห์ยังระบุด้วยว่ากลุ่มยีนที่พบในทุเรียนอาจนำไปต่อยอดพัฒนาดัดแปลงสายพันธุ์ทุเรียนให้คุณภาพดีขึ้น ทั้งรสชาติและกลิ่น รวมทั้งมีน้ำตาลน้อยในอนาคต อีกทั้งจะส่งผลดีเศรษฐกิจ เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของภูมิภาคนี้ แม้จะมีการห้ามกินในที่สาธารณะกลางแจ้งบางแห่ง และห้ามนำขึ้นระบบขนส่งมวลชนในสิงคโปร์ แต่ความนิยมไม่ได้ลดน้อยลง.-สำนักข่าวไทย