โตเกียว 2 ก.พ.- ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้ชาวญี่ปุ่นในเมืองใหญ่จำนวนไม่น้อย หันมาปลูกผักกินเองมากขึ้นเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
ค่าครองชีพและราคาสินค้าในญี่ปุ่นมีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่ราคาผักผลไม้ ราคากะหล่ำปลีขนาดใหญ่ในกรุงโตเกียวมีราคาสูงถึงหัวละ 1,000 เยน หรือประมาณ 220 บาท เช่นเดียวกับราคาพืชผักและอาหารอื่น ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นแบบไม่มีลง เป็นผลจากค่าเงินเยนอ่อน ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน หันมาปลูกผักกินเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกจะน้อยมากก็ตาม
คาซึกิ นากาตะ อดีตลูกจ้างร้านขายอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ อายุ 37 ปี เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนหันมาปลูกผักกินเองมากขึ้น โดยในช่วงโควิด-19 ที่ต้องอยู่กับบ้านที่เมืองคาวาซากิ ใกล้กรุงโตเกียว เขาใช้เวลาว่างทดลองปลูกผักกินเองและอัพโหลดคลิปลงยูทูบ จนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำในปี 2566 มาเป็นยูทูบเบอร์เต็มตัว เพราะมีผู้ติดตามมากถึงกว่า 1 แสนคน
แม้ที่บ้านมีพื้นที่มีน้อย แต่ยูทูบเบอร์รายนี้ปลูกผักไว้ทั่วบ้านถึง 47 ชนิด อาทิ ผักกาดหอม ผักบุ้ง ต้นหอม หัวไชเท้า และอีกมาก อาศัยปลูกลงกระถางขนาดเล็ด ถ้วยชาม หรือแม้กระทั่งในขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ทำให้นากาตะและภรรยามีผักสดปลูกเองรับประทานทุกวัน ช่วยลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และยังสร้างรายได้จากการโพสต์คลิปลงยูทูบ เฉพาะเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ติดตามที่สนใจคลิปการปลูกผักของเขาเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5,000 คน
ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาแพงขึ้น ทำให้การบริโภคผักโดยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา.-815(814).-สำนักข่าวไทย