สิงคโปร์ 29 พ.ค.- ผลการสอบสวนเบื้องต้นเหตุเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศเมื่อสัปดาห์ก่อนระบุว่า แรงโน้มถ่วงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และระดับความสูงที่ลดลง 54 เมตร เป็นสาเหตุที่ทำให้คนบนเครื่องบินได้รับบาดเจ็บ
กระทรวงคมนาคมสิงคโปร์นำรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นของสำนักงานสอบสวนความปลอดภัยคมนาคมมาแถลงในวันนี้ รายงานอ้างข้อมูลที่กู้ได้จากกล่องบันทึกข้อมูลการบินและกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินว่า เครื่องบินประสบกับแรงโน้มถ่วงหรือแรงจี (G) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงน่าจะทำให้ผู้ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยตัวลอยขึ้นอย่างกะทันหัน จากนั้นอัตราเร่งแนวดิ่งได้เปลี่ยนจาก ลบ 1.5 จี เป็น บวก 1.5 จี ภายในเวลา 4 วินาที จึงน่าจะทำให้ผู้ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยที่ตัวกำลังลอยตกลงมาอย่างรวดเร็ว แรงจีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในเวลา 4.6 วินาทีส่งผลให้เครื่องบินมีระดับความสูงลดลง 178 ฟุต หรือ 54 เมตร จาก 37,362 ฟุต ลงไปที่ 37,184 ฟุต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับเหล่านี้จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับบาดเจ็บ
รายงานระบุด้วยว่า ในช่วงที่เครื่องบินเผชิญกับการสั่นสะเทือนเล็กน้อย เครื่องบินได้เพิ่มระดับความสูงโดยที่ไม่ได้สั่งการ เป็นเหตุให้ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติบังคับเครื่องให้ลดระดับความสูงลง ขณะที่นักบินได้ลดความเร็วเครื่องบินและได้ยินเสียงนักบินแจ้งเปิดสัญญาณคาดเข็มขัดนิรภัย
ด้านสิงคโปร์แอร์ไลน์แจ้งเมื่อวันอังคารว่า ยังมีผู้โดยสาร 45 คนอยู่ในกรุงเทพฯ ในจำนวนนี้ 28 คนยังอยู่ระหว่างรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หลังจากเที่ยวบินเอสคิว 321 (SQ321) เดินทางจากกรุงลอนดอนของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ตกหลุมอากาศกะทันหันขณะบินเหนือน่านฟ้าเมียนมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม และต้องนำเครื่องบินลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิพร้อมกับผู้โดยสาร 211 คน ลูกเรือ 18 คน มีผู้โดยสารชายวัย 73 ปีเสียชีวิต คาดว่าเกิดจากหัวใจวาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน.-814.-สำนักข่าวไทย