10 ส.ค.-เทคโนโลยีภาพเสมือนจริงส่งผลต่อนวัตกรรมวงการแพทย์อย่างไรบ้าง ติดตามในสารคดีโลก
ความสมจริงของภาพในห้องฉุกเฉินเบื้องหน้าทำให้ผู้ที่มีโอกาสใช้งานระบบจำลองภาพเสมือนจริงซีพีอาร์ หรือการกู้ชีพด้วยการปั๊มหัวใจ ในงานเวอร์ชวล เรียลิตี้โชว์ ที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ได้สัมผัสถึงความสมจริงของสถานการณ์ฉุกเฉินในห้องฉุกเฉิน
แอนนา สตอยโลวา ผู้ก่อตั้งดูเอล กู๊ด เฮลท์ บอกว่า เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงจะช่วยในเรื่องการเรียนการสอนของนักเรียนแพทย์และพยาบาล รวมถึงประเมินศักยภาพของตัวเองในการทำซีพีอาร์ ซึ่งสำคัญต่อการกู้ชีวิตภายในห้องฉุกเฉินได้
ด้านแคร์รีย์ ชอว์ ผู้ก่อตั้งเอ็มบอยด์ แล็บส์ พบว่าเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมและภาวะสมองเสื่อม ด้วยการทำให้แพทย์หรือสมาชิกในครอบครัวมองเห็นภาพที่ผู้ป่วยมองเห็นผ่านกล้องวีอาร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะเดียวกันกล้องวีอาร์ยังจำลองสถานการณ์ให้ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการสมองเสื่อมภายใต้สถานการณ์ที่ผู้ดูแลควบคุมได้
ส่วนเจมี เดนแฮม กรรมการผู้จัดการสไลด์ เบรด แอนิเมชั่น ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีเสมือนจริงจำลองภาพความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย เช่น ลิ้นหัวใจ หลอดเลือด หรือมะเร็ง เพื่อให้แพทย์สามารถอธิบายลักษณะการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะภายในเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจวิธีและขั้นตอนการรักษา
ขณะที่อาร์โน ฮาร์โธล์ท จากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่าได้นำเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงมาใช้บำบัดอาการทางจิต เช่น อาการเครียดและเจ็บป่วยหลังประสบเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจรุนแรง หรือพีทีเอสดี ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่าความก้าวหน้าของเวอร์ชวล เรียลิตี้ (Virtual Reality) หรือเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาวิจัย ตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาอาการโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในวงการแพทย์ต่อไปในอนาคต.-สำนักข่าวไทย