สหประชาชาติ 28 ม.ค.- องค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้หรือยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอ (UNRWA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลคนในกาซา กำลังถูกหลายประเทศระงับการให้เงินสนับสนุน หลังจากอิสราเอลกล่าวหาว่า พนักงานขององค์กรพัวพันกับเหตุฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล
สหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) ก่อตั้งยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอในปี 2492 หลังจากเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลปี 2491 เพื่อจัดสรรความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่น องค์กรให้คำนิยามผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ว่า หมายถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นปาเลสไตน์ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2489 – 15 พฤษภาคม 2491 และผู้ที่สูญเสียทั้งบ้านและวิถีชีวิตอันเป็นผลจากสงครามปี 2491 ปัจจุบันจำนวนคนที่เข้าคำนิยามมีทั้งหมด 5 ล้าน 9 แสนคน ขณะที่อิสราเอลไม่ยอมให้ชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นกลับมายังบ้านเกิด โดยอ้างว่าจะทำให้คุณลักษณะความเป็นยิวของอิสราเอลเปลี่ยนแปลงไป
สมัชชายูเอ็นหรือยูเอ็นจีเอ (UNGA) ซึ่งเป็นที่ประชุมออกเสียงของสมาชิกยูเอ็นทุกประเทศ ได้ออกเสียงต่ออายุการทำงานของยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอมาโดยตลอด องค์กรมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงอัมมานของจอร์แดนและกาซา ทำงานใน 5 พื้นที่คือ จอร์แดน เลบานอน ซีเรีย ฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ที่รวมถึงเยรูซาเล็มตะวันออก ดูแลเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ที่ตั้งค่ายผู้ลี้ภัย บริการทางสังคม และความช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้ง จ้างงานคนในกาซาประมาณ 13,000 คน องค์กรเผยว่า มีพนักงานอย่างน้อย 152 คนถูกสังหารในสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566
อิสราเอลกล่าวหาว่า พนักงานขององค์กรพัวพันกับเหตุฮามาสข้ามพรมแดนเข้ามาโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดชัดเจน หรือจำนวนคนที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารของยูเอ็นอาร์ดับเบิลยูเอแถลงว่า ได้รับข้อมูลเรื่องมีพนักงานถูกกล่าวหาว่าพัวพันหลายคน จึงได้ยุติสัญญาจ้างพนักงานเหล่านี้ทันทีและเปิดการสอบสวนหาความจริง เพื่อให้องค์กรสามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซาได้ต่อไป.-814.-สำนักข่าวไทย