วอชิงตัน 27 ก.ค.- คณะนักวิจัยในสหรัฐเผยว่า ฟองน้ำทะเลสีเขียวที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งรัฐอะแลสกาอาจใช้รักษามะเร็งตับอ่อนอย่างได้ผลเป็นครั้งแรก
นายบ็อบ สโตน นักวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงอะแลสกาเล่าผ่านโทรศัพท์ว่า พบฟองน้ำนี้ในปี 2548 ขณะสำรวจก้นมหาสมุทรนอกชายฝั่งรัฐอะแลสกา เป็นฟองน้ำสีเขียวทึบเกาะอยู่ตามก้อนหินที่ระดับความลึก 70-219 เมตร ขณะที่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนาที่ทำงานร่วมกับสถาบันมะเร็งเฮนรีฟอร์ดเผยว่า ผลการทดสอบในห้องทดลองปฏิบัติการพบว่า โมเลกุลของฟองน้ำชนิดนี้สามารถเลือกทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งตับอ่อนอย่างได้ผลที่สุด เพราะนับตั้งแต่ศึกษาสารสกัดจากฟองน้ำร่วม 5,000 ชนิดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เคยพบรูปแบบการเลือกทำลายเซลล์มะเร็งตับอ่อนและมะเร็งรังไข่แบบนี้ในฟองน้ำอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น เป็นฟองน้ำที่พบในอินโดนีเซียเมื่อหลายปีก่อน สำหรับการค้นพบครั้งนี้แม้ยังต้องศึกษาวิจัยอีกมาก แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการค้นคว้าและพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งตับอ่อนต่อไป
มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่มีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ จึงทำให้วินิจฉัยพบได้ช้า และเมื่อพบก็ยากจะรักษาแล้ว สถิติของสมาคมมะเร็งอเมริกันระบุว่า โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีชีวิตรอดเป็นเวลา 5 ปี มีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น เฉพาะสหรัฐคาดว่าจะพบผู้ป่วยรายใหม่ 53,670 รายในปีนี้ และจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 43,000 คน.- สำนักข่าวไทย