เบงกาลูรู 23 ส.ค.- ยานสำรวจของอินเดียมีกำหนดลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ในเย็นวันนี้ หากประสบความสำเร็จก็จะเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถลงจอดในจุดนี้
ยานสำรวจในภารกิจจันทรายาน-3 (Chandrayaan-3) มีกำหนดลงจอดหลังเวลา 18:00 น.วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับหลังเวลา 19:00 น.วันนี้ตามเวลาไทย เป็นความพยายามล่าสุดของอินเดีย หลังจากภารกิจจันทรายาน-2 ล้มเหลวไปในปี 2562 และหลังจากยานลูนา-25 (Luna-25) ของรัสเซียตกกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น เป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของรัสเซียนับจากปี 2519 หากไม่ตกกระแทกพื้นก็จะลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นประเทศแรกของโลก
นายเค สิวาน อดีตประธานองค์กรสำรวจอวกาศอินเดียหรืออิสโร (ISRO) เผยว่า ภาพถ่ายล่าสุดที่ยานลงจอดวิกรม (Vikram) ของจันทรายาน-3 ส่งกลับมายังโลกทำให้มั่นใจได้ว่า การลงจอดจะประสบความสำเร็จ และอิสโรได้แก้ไขข้อบกพร่องจากความล้มเหลวเมื่อ 4 ปีก่อนที่คณะนักวิทยาศาสตร์ขาดการติดต่อกับยานของจันทรายาน-2 ในช่วงที่ยังไม่ลงจอด
อินเดียปล่อยจรวดในภารกิจจันทรายาน-3 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ใช้เวลาในการเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์นานกว่ายานอวกาศของประเทศอื่น รวมถึงยานอะพอลโลของสหรัฐช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน เนื่องจากอินเดียใช้จรวดที่มีกำลังน้อยกว่า จึงต้องโคจรรอบโลกหลายรอบเพื่อเพิ่มความเร็วก่อนเข้าสู่เส้นทางมุ่งหน้าไปยังดวงจันทร์ และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม อินเดียเริ่มภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 2551 ภารกิจล่าสุดนี้ใช้งบประมาณ 74.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,606 ล้านบาท) หากประสบความสำเร็จอินเดียก็จะเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ตามหลังสหภาพโซเวียต สหรัฐและจีน.-สำนักข่าวไทย