นิวเดลี 17 ส.ค.- องค์การอนามัยโลกจัดการประชุมสุดยอดการแพทย์แผนโบราณเป็นครั้งแรกในวันนี้ที่อินเดีย
องค์การอนามัยโลกระบุว่า การแพทย์แผนโบราณเป็นด่านแรกของคนหลายล้านคนทั่วโลก การประชุมสุดยอดครั้งแรกนี้จะนำผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการมาร่วมกันสร้างพันธกิจทางการเมืองและการดำเนินการโดยอ้างอิงตามหลักฐานในด้านนี้ ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกแถลงก่อนการประชุมว่า การแพทย์แผนโบราณสามารถลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพ หากมีการใช้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือ มีความปลอดภัย โดยอ้างอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด
การประชุมสุดยอดโลกด้านการแพทย์แผนโบราณขององค์การอนามัยโลกจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม ควบคู่ไปกับการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือจี 20 (G20) ที่เมืองคานธีนคร รัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย คาดว่าจะกลายเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี และมีขึ้นหลังจากที่มีการเปิดศูนย์ระดับโลกด้านการแพทย์แผนโบราณขององค์การอนามัยโลกที่รัฐคุชราตเมื่อปี 2565
องค์การอนามัยโลกให้คำนิยามการแพทย์แผนโบราณว่า เป็นความรู้ ทักษะ และการปฏิบัติที่ผ่านการใช้มาระยะเวลาหนึ่งเพื่อดูแลและป้องกันสุขภาพ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอาการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ อย่างไรก็ดี การรักษาแผนโบราณหลายอย่างไม่ผ่านการรับรองทางวิทยาศาสตร์ และถูกกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติตำหนิว่า ส่งเสริมการลอบค้าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันสมาชิกองค์การอนามัยโลกที่ให้การรับรองการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์ทางเลือกมี 170 รัฐจากทั้งหมด 194 รัฐ และมีเพียง 124 รัฐที่มีรายงานว่า มีกฎหมายหรือระเบียบกำกับการใช้พืชสมุนไพร.-สำนักข่าวไทย