1 ก.พ. – โลกเตรียมเผชิญหน้ากับ “ดาวหางสีเขียว” ที่จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 50,000 ปี ในสัปดาห์นี้ ห่างเพียง 42.5 ล้านกิโลเมตร สามารถมองเห็นได้ชัดสุด 1-2 กุมภาพันธ์นี้
นักดาราศาสตร์คาดว่า “ดาวหางสีเขียว” ที่เคลื่อนตัวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนมานานหลายเดือน จะเคลื่อนเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด จนผู้คนสามารถมองเห็นได้ชัดเป็นครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี ในสัปดาห์นี้ โดยจะเคลื่อนตัวผ่านโลกในระยะ 42.5 ล้านกิโลเมตร และจะมองเห็นได้ในเวลาประมาณ 18.49 น. ของวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ซึ่งตรงกับเวลา 06.49 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ตามเวลาประเทศไทย ก่อนจะลับขอบฟ้าไปในเวลา 05.57 น. ซึ่งตรงกับ 12.57 น. ในวันเดียวกัน ตามเวลาในประเทศไทย ขณะที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) มีแผนเฝ้าดู “ดาวหางสีเขียว” ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ เพื่อช่วยให้เข้าใจรูปแบบของระบบสุริยะได้ดีขึ้น
นักดาราศาสตร์ต่างเรียกดาวหางสีเขียวดวงนี้ว่า “ก้อนหิมะสกปรก” เนื่องจากดาวหางเป็นลูกบอลน้ำแข็ง ประกอบด้วยฝุ่นและหิน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/2022 E 3 (ZTF) ถูกพบเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 โดยนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวปาโลมาร์ ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ
สำหรับ “ดาวหางสีเขียว” มีคาบการโคจรครบรอบนานราว 50,000 ปี หมายถึงว่า การโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในของดาวหางสีเขียว ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงปลายยุคหินเก่า ตรงกับช่วงมนุษย์ยุคแรกเริ่มในยุคน้ำแข็ง ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดอีกครั้งในวันนี้. – สำนักข่าวไทย