ศูนย์จีโนมฯ 25 พ.ค.-หน.ศูนย์จีโนมฯ ชี้ “ฝีดาษลิง” ติดยากกว่าโควิด การแพร่ในต่างประเทศยังไม่พบสาเหตุ พร้อมเร่งพัฒนาชุดตรวจ คาดแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้
ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิงว่ายังไม่ได้มีการแพร่ระบาดรวดเร็ว เป็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยการระบาดครั้งนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้กับองค์การอนามัยโลก ที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าทำไมจึงมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงพร้อมกันกว่า 100 คน ในหลายประเทศนอกทวีปแอฟริกา (ซึ่งถือเป็นโรคประจำถิ่น) ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย สำหรับแนวทางการตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง องค์การอนามัยโลก และกรมควบคุมโรคของอเมริกา แนะนำให้ตรวจด้วยวิธี PCR หรือการถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งหากพบมีการติดเชื้อภายในประเทศ ก็สามารถใช้เครื่อง PCR ที่อยู่มากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ที่เคยใช้ตรวจโควิด-19 นำมาใช้ตรวจหาโรคฝีดาษลิงได้ทันที ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีการระบาดของโรคฝีดาษลิง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำการ “สวอป” น้ำลาย ส่วนน้ำหรือหนองจากตุ่มแผล ทำการสกัดสารพันธุกรรม แล้วส่งมายังศูนย์จีโนมฯ เพื่อให้ช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมได้
ในระยะแรกที่ยังไม่มีชุดตรวจ แพร่หลาย ทางศูนย์จีโนมฯ สามารถร่วมถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยี long-read nanopore sequencing ในลักษณะของ “shortgun metagenomic sequencing” กล่าวคือไม่จำเป็นต้องทราบว่าในสิ่งส่งตรวจมีจุลชีพ หรือไวรัสประเภทใดได้สำเร็จภายในเวลา 48 ชั่วโมง
หากใช้ “ชิพ (flow cell) ขนาดเล็กในการถอดรหัสพันธุกรรม จะสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 20 ตัวอย่างต่อชิพ แต่หากใช้ชิพใหญ่ในการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโรคฝีดาษลิงทั้งจีโนม จะสามารถตรวจสอบ หรือถอดรหัสพันธุกรรมได้มากกว่า 4,000 ตัวอย่างต่อชิพ ผลลัพธ์ที่ได้คือจะทราบว่ามีจุลชีพหรือไวรัสประเภทใดบ้าง และจำนวนเท่าไรในตัวอย่างส่งตรวจนั้นๆ ใช่สายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่หรือไม่ และมาจากประเทศไหน
ล่าสุด มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง ในโปรตุเกส เบลเยียมได้สำเร็จ ซึ่งทางศูนย์จีโนมฯ ได้ใช้รหัสพันธุกรรมดังกล่าวเป็นพิมพ์เขียวในการสร้างชุดตรวจจีโนมไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง 40 ตำแหน่งพร้อมกัน เพื่อป้องกันการเกิดผลบวก หรือผลลบปลอม (ต่างจาก PCR ซึ่งตรวจจีโนมได้ 1-2 ตำแหน่ง และต้องใช้เวลา2-4วัน) แต่ชุดตรวจจีโนมไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง 40 ตำแหน่งนี้ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 24 ชั่วโมงด้วยเทคโนโลยี “Massarray genotyping” สามารถตรวจได้ 100 ตัวอย่างต่อวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้
พร้อมเสนอให้เฝ้าระวังและมีมาตรการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มข้น เช่น ทางประเทศแถบยุโรปใต้ และแอฟริกา รวมถึงการนำสัตว์ตระกูลฟันแทะจากแอฟริกาเข้ามาเลี้ยงในไทย ทั้งนี้ประเมินว่าหากมีการระบาดในประเทศ ก็จะเป็นการระบาดอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น เพราะไม่ได้ติดง่าย หรือแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเหมือนกับไวรัสโควิด-19 ส่วนมีวัคซีนและยาต้านไวรัสสำหรับป้องกันและรักษาโรคฝีดาษลิง ขณะนี้มีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำการศึกษาวิจัยใหม่เหมือนกับโรคโควิด-19 แต่อาจต้องประเมินผลอีกครั้งจากการใช้จริงในปัจจุบัน และการทำการผลิตเพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากไม่ได้มีการสต็อกเอาไว้.-สำนักข่าวไทย