สำนักข่าวไทย 27 เม.ย.- สธ.ชี้ยังไม่มีจังหวัดไหนพร้อมเข้าเกณฑ์นำร่องสู่การเป็นโรคประจำถิ่น เพราะเงื่อนไข ติดเชื้อโควิดทรงตัว ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเกิน 60% ย้ำคาดทำแซนด์บ็อกซ์จังหวัดนำร่องสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ ราวกลางเดือน พ.ค. เปิดทุกกิจกรรม ไม่ใส่หน้ากาก แต่ต้องมีแผนรับมือ มีหน่วยตรวจสอบ ประชาชนช่วยจับตาถึงจะไปรอด
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังไม่มีจังหวัดใดสามารถใกล้เข้าสู่การกลายเป็นโรคประจำถิ่นแม้แต่จังหวัดเดียว โดยเงื่อนไขสำคัญของการเป็นโรคประจำถิ่น ต้องประกอบไปด้วย
- พื้นที่นั้นสถานการณ์การติดเชื้อต้องทรงตัว ไม่ได้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
- พื้นที่นั้นต้องมีการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 เกิน 60% ของจำนวนประชากร และในส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องรับวัคซีนเข็ม 1 เกิน 80% และเข็มกระตุ้นเกิน 60%
ทั้งนี้หากทุกจังหวัดผ่านเงื่อนไขนี้ ก็จะมาเข้าสู่กระบวนการที่ทาง ศบค.ประกาศไปแล้ว คือ ให้ทุกจังหวัดทำแผน จากนั้นปฏิบัติตามแผนเพื่อพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ทำในลักษณะของแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอต่อ ศปก.สธ. และเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ต่อไป หรือ ราวกลางเดือน พ.ค. น่าจะมีการทดลองทำตามแผนการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในแต่ละจังหวัด
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับแผนสำคัญ คือ ต้องใช้ได้จริง เพราะต้องเปิดกิจกรรม กิจการต่างๆ ตามปกติ ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย ประกอบด้วย 1.ให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนรับมือกับสถานการณ์โรคที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องของการกลายพันธุ์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์จริง 2.มีหน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อติดตามกำกับผู้ประกอบการอีกที เช่นการปิดเปิดสถานประกอบการ ผับบาร์ ไม่ใช่เปิดเกินเวลา และ 3.ประชาชนต้องร่วมสังเกตการณ์ ติดตามกับมาตรการต่างๆ และแจ้งเบาะแส หากพบเห็นการไม่ปฏิบัติตามแผน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะมีการตรวจสอบกันเอง เพื่อให้การทดลองเปิดกิจกรรมกิจการต่างๆ มีความรัดกุม พร้อมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค.65 .-สำนักข่าวไทย