กรุงเทพฯ 22 เม.ย.-นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ ระบุผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยจำเป็นต้องปรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มขึ้นอีก 10 สตางค์ เนื่องจากราคาอาหารสัตว์ขึ้นต่อเนื่อง โดย 1 เดือน ปรับขึ้น 4 ครั้งแล้ว จนผู้เลี้ยงบางรายหยุดเลี้ยงชั่วคราวเพราะเกรงขาดทุน พร้อมเสนอ ก.พาณิชย์ ผ่อนคลายภาระต้นทุนอาหารสัตว์ให้สำเร็จ หากทำได้ ผู้เลี้ยงสามารถตรึงราคาไข่ไก่ไว้ได้ถึง 1 ปี
นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้กล่าวว่า สมาคมไม่ได้ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่เนื่องจากกรมการค้าภายในขอร้องไว้ แต่ผู้เลี้ยงรายย่อยที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์และชมรมซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่ารายย่อยได้ประกาศปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้น 10 สตางค์จาก 3.40 บาท เป็น 3.50 บาท โดยมีผลวันนี้ (22 เม.ย.) บางสหกรณ์และบางชมรมประกาศแจ้งราคาแนะนำขายไข่ไก่ตามขนาดดังนี้ เบอร์ 0 ฟองละ 4.10 บาท เบอร์ 1 ฟองละ 3.90 บาท เบอร์ 2 ฟองละ 3.70 บาท เบอร์ 3 ฟองละ 3.60 บาท เบอร์ 4 ฟองละ 3.40 บาท และเบอร์ 5 ฟองละ 3.20 บาท
ทั้งนี้สาเหตุที่ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นเกิดจากอาหารสัตว์ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเพราะช่วงฤดูร้อนต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อทำความเย็นในโรงเรือนมากขึ้น รวมถึงค่ายา วิตามิน และเวชภัณฑ์เพราะอากาศร้อนไก่ไม่แข็งแรงและป่วยง่าย ตลอดจนให้ไข่น้อยลงด้วย
สำหรับอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุน 60-70% ของต้นทุนการเลี้ยง โดยอาหารสำเร็จรูปปรับราคาต่อเนื่อง ในรอบ 1 เดือนปรับ 4 ครั้งแล้วตั้งแต่ 20-30 สตางค์ต่อกิโลกรัม ล่าสุดร้านจำหน่ายอาหารสัตว์แจ้งว่า จะปรับขึ้น 30 สตางค์ในวันจันทร์ที่ 25 เม.ย. นี้อีกครั้ง
วัตถุดิบอาหารไก่ที่สำคัญได้แก่ กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี และข้าวโพด ผู้เลี้ยงบายรายที่ผสมอาหารเอง หาซื้อวัตถุดิบได้น้อยกว่าความต้องการ หากคำนวณแล้วกลับสูงกว่าซื้ออาหารสำเร็จรูปเพราะปริมาณการซื้อน้อยย่อมราคาสูง เกษตรกรบางคนเปลี่ยนไปใช้อาหารสัตว์ที่ราคาถูกลงปรากฏว่า ไก่ไม่ไข่หรือเปลือกไข่สีซีด จำหน่ายไม่ได้เพราะเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การจะปรับสูตรอาหารโดยใช้วัตถุดิบในประเทศเช่น ปลายข้าวนั้น ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมดเพราะวัตถุดิบแต่ละชนิดให้ธาตุอาหารต่างกัน
ที่ผ่านมากรมการค้าภายในพยายามแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง แต่การประชุมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องล่มจนกระทั่งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา 3 แนวทางคือ
- ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%
- ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน
- เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO และ AFTA ในปริมาณขาดแคลน โดยยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม
ซึ่งเป็นการเปิดนำเข้าในปริมาณที่เหมาะสมและเป็นเวลาชั่วคราวซึ่งจะไม่กระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ในประเทศ
นายสุเทพกล่าวต่อว่า หากกระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและราคาแพงได้ เชื่อว่า ผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถตรึงราคาไข่ไก่ได้นานถึง 1 ปีโดยไม่ต้องปรับขึ้น ยืนยันว่าเกษตรกรเห็นใจผู้บริโภค ไม่ต้องการเอาเปรียบ แต่มาตรการรัฐควรดูแลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกอบอาชีพได้ด้วย ไม่เช่นนั้นผู้เลี้ยงรายย่อยต้องหยุดเลี้ยงเพราะแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว-สำนักข่าวไทย