กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – กรมการแพทย์ เผยภัยของ “มะเร็งเต้านม” พบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย แนะหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และสังเกตความผิดปกติ ชี้หากพบแพทย์ในระยะแรก สามารถรักษาหายขาดได้
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้ “มะเร็งเต้านม” ภัยร้ายของผู้หญิง พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก และพบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทย แนะหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และสังเกตความผิดปกติ เช่น ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นแผลและอาจมีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีคล้ายเลือดไหลออกมา หรือเป็นผื่นบริเวณหัวนม ชี้หากพบแพทย์ในระยะแรก สามารถรักษาหายขาดได้
สำหรับสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย และดื่มสุรา รวมถึงบางปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม และอายุที่มากขึ้น เป็นต้น
พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเต้านม สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งเต้านมเกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเต้านม แล้วเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง อาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ มะเร็งเต้านมสามารถพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศชายในอัตราที่น้อยมาก ผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ และมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนเนื้อในเต้านม หรือบริเวณรักแร้ อาการอื่นๆ อาจสังเกตได้จากขนาดหรือรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นแผลและอาจมีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีคล้ายเลือดไหลออกมา หรือเป็นผื่นบริเวณหัวนม
ในด้านการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้า และฮอร์โมน หรือแพทย์อาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทีมแพทย์และระยะของโรค สุขภาพและความต้องการของผู้ป่วย แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ก็เป็นมะเร็งที่มีโอกาสรักษาหายขาด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เราสามารถตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน เข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือพยาบาลเป็นครั้งคราว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ร่วมกับเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม. – สำนักข่าวไทย