กรุงเทพฯ 25 ม.ค. – “หมอประสิทธิ์” เผยสถานการณ์โอไมครอนทั่วโลกในรอบ 2 เดือน มีแนวโน้มเข้าสู่จุดสิ้นสุดการระบาด ย้ำอย่าหวังสร้างภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนจากทั่วโลก หลังมีการแพร่ระบาดมา 2 เดือน ว่าขณะนี้โควิดสายพันธุ์โอไมครอนไปรุนแรงอยู่ที่ทวีปยุโรปและในอเมริกา ส่วนที่แอฟริกา ได้ผ่านจุดการแพร่ระบาดสูงสุดมาแล้ว กำลังอยู่ในช่วงขาลง และก็ไม่ได้พบมีคนไข้หนักมากนัก
หลังองค์การอนามัยโลก ประกาศพบสายพันธุ์โอไมครอนเมื่อ 24 พ.ย.64 ทำให้มีอัตราการติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 2-3 ล้านคน/วัน สูงกว่าทุกสายพันธุ์ที่ผ่านมา ที่พบเพียงวันละประมาณ 1 แสนคน ส่วนอัตราการเสียชีวิตในช่วงที่เดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก ตัวเลขอยู่ระหว่าง 5,000-9,000 คน/วัน พอมาในช่วงที่โอไมครอนเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลัก ตัวเลขการเสียชีวิตก็ใกล้ ๆ เดิมอยู่ระหว่าง 4,000-9,000 คน/วัน ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนทั่วโลก ตอนนี้ฉีดไปแล้วกว่า 9,900 ล้านโดส
พร้อมยกตัวอย่างสถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา เช่น ที่สหรัฐหลังโอไมครอนเข้าไประบาด ทำให้มีตัวเลขติดเชื้อสูง บางวันสูงถึง 1.5 ล้านคน ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 2,000-3,000 คน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 530 ล้านโดส จากจำนวนประชากรที่มีอยู่กว่า 334 ล้านคน แคนนาดา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 75 ล้านโดส จากประชากรที่มีอยู่กว่า 38 ล้านคน ทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตกว่า 100 คนต่อวัน มาอย่างต่อเนื่อง สหราชอาณาจักร มีอัตราการติดเชื้ออยู่ระหว่าง 80,000-1,000,000 คนต่อวัน เสียชีวิต 200-300 คนทุกวัน ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง หลังมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 137 ล้านโดส จากประชากรที่มีกว่า 68 ล้านคน
ส่วนประเทศไทย หลังโอไมครอนระบาด ก็พบมีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ระหว่าง 7,000-8,000 คน/วัน เสียชีวิตอยู่ในหลักกว่า 10 คน ไม่เกิน 20 คน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 111 ล้านโดส จากประชากรที่มีอยู่กว่า 70 ล้านคน คิดเป็น 74.4% ของประชากรที่ได้รับ 1 โดส 68.5% ได้ 2 โดส และ 15.8% ที่ได้รับการฉีดกระตุ้น
จากการติดตามสถานการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่าโอไมครอนแพร่ได้เร็วกว่าเดลตา โดยไม่ได้สัมพันธ์กับปริมาณไวรัสในผู้ติดเชื้อ ความจำเป็นต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธ์เดลตา ประมาณเพียง 1/3 ถึง 1/2 และมีอาการรุนแรงน้อยกว่า ความสามารถหลบจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งภูมิที่เกิดจากการหายจากการติดเชื้อ หรือที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์เดลตา เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งของการแพร่ระบาดได้เร็วของโอไมครอน อาการที่พบบ่อยในการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน คือน้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จามบ่อยและเจ็บคอ ส่วนอาการไข้สูง ไม่ได้กลิ่น หรือไม่ได้รสพบไม่บ่อยเหมือนเดลตา
การศึกษาในสัตว์พบว่าเชื้อโอไมครอน มักก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงปอดมากเหมือนเดลตา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาการ ความรุนแรงไม่ค่อยเหมือนกัน การศึกษาใน Imperial College ในกรุงลอนดอน พบว่าการจะมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดการติดเชื้อ หรือการติดเชื้อที่มีอาการมาก จำเป็นต้องได้รับวัคซีน 3 เข็ม (2 เข็มพื้นฐาน และกระตุ้น 1 เข็ม) และระยะห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 3 เดือน แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเสนอแนะว่าให้ฉีดทุก 3-6 เดือน
งานการศึกษาผลของการฉีด AZ และ Pfizer ที่ Imperial College พบว่าจะป้องกันการเกิดการติดเชื้อที่มีอาการของโอไมครอน ได้ผล 0-20% แต่จะเพิ่มเป็น 55-80% เมื่อได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ในการเอาชนะโอไมครอน พลโลกส่วนใหญ่ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบ ไม่ใช่มีการฉีดเฉพาะในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ดีเท่านั้น การหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต การเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การฉีดวัคซีน ส่วนภาวะ Long Covid เป็นกลุ่มอาการที่พบได้หลังการติดเชื้อโควิด อาจพบได้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ๆ มีมากกว่า 50 อาการที่พบ ระยะเวลาที่มีอาการที่จะถือว่าเป็น Long Covid ในสหราชอาณาจักร ถือว่าไม่น้อยกว่า 3 เดือน แต่ในสหรัฐอเมริกา 4 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าเป็นแล้ว การได้รับการฉีดวัคซีนครบ ช่วยลดโอกาสเกิด Long Covid ได้ถึง 49% ไม่มีความแตกต่างชัดเจนตามหลังการติดเชื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ ส่วนยาที่มีรายงานว่าได้ผลดีต่อโอไมครอน ทั้ง Favipiravir, Molnupiravir, Nirmatrelvir, Remdesivir, Paxlovid ก็ยังใช้ได้ดี
ทั้งนี้ จากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่าผลจากการแพร่ระบาดที่เร็วมากของโอไมครอน แต่ก่อให้เกิดอาการความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า ทำให้มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงปลายของการแพร่ระบาดของโควิด จากผลรวมของประชากรโลกที่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการฉีดวัคซีนและจากการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง พร้อมย้ำการหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันโดยการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะอาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ทั้งตัวผู้ติดเชื้อและผู้ได้รับการแพร่เชื้อ
วิถีการใช้ชีวิตและการทำงาน มีแนวโน้มไม่กลับมาเป็นปกติ ในรูปแบบก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เป็นปกติรูปแบบใหม่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเกิดการแพร่ระบาดจากเชื้อโรคใหม่ และจะเป็นรูปแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการสร้างสุขภาพ การรักษาความสะอาดสุขอนามัย เทคโนโลยีต่าง ๆ จะมามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น การยอมรับเทคโนโลยีจะมีมากขึ้น และใช้ได้สะดวกขึ้น ประเทศไทยควรมีส่วนร่วมในการสร้าง พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพมีการปรับตัว มีการนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ ๆ มาใช้
สำหรับคำแนะนำในช่วงเวลานี้ ควรป้องกันตัวเองจากการรับเชื้อและแพร่เชื้อ ซึ่งสามารถกระทำได้ แม้จะมีการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างกัน 1-2 เมตร การพูดคุยไม่นานจนเกินไป (โดยใส่หน้ากาก) ดำเนินการตามมาตรการต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้น ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถประเมินประสิทธิภาพของมาตรการเหล่านั้น ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (Az หรือ mRNA) หากฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 3 เดือน หรือมากกว่า ช่วยกันแนะนำหรือตักเตือนผู้ที่ไม่ดำเนินการตามมาตรการที่ควร เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด เนื่องจากโอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็ว และติดตามข่าวสารความก้าวหน้าต่าง ๆ เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19. -สำนักข่าวไทย