กรุงเทพฯ 13 ม.ค. – กรมส่งเสริมวัฒนธรรมแจ้งกำหนดการบำเพ็ญกุศลราชาเพลงแหล่ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ 14 ม.ค. ตั้งสวดพระอภิธรรมศพ 9 วัน ระหว่างวันที่ 14-22 ม.ค. วัดวังน้ำเย็น จ.สุพรรณบุรี
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) แจ้งว่านายไวพจน์ สกุลนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2540 ถึงแก่กรรมเมื่อวันพุธที่ 12 มกราคม 2565 เวลา 15.24 น. โรงพยาบาลตากสิน เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด อายุ 79 ปี โดยได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 เวลา 17.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 14-22 มกราคม 2565 เวลา 19.00 น. วัดวังน้ำเย็น ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 50 วัน และ สวธ.จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป
นายชาย เปิดเผยว่า นอกจาก สวธ.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ นอกจากดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพแล้ว ยังมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท และขอพระราชทานเพลิงศพตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ
ประวัติโดยสังเขป นายไวพจน์ สกุลนี เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2485 จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงในนาม ไวพจน์ เพชรสุพรรณ โดยเริ่มหัดร้องเพลงอีแซวกับมารดาตั้งแต่อายุ 12 ปี จากนั้นฝึกหัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีปสามารถร้องเพลงแหล่ได้เป็นอย่างดีเมื่ออายุ 14 ปี ด้วยพรสวรรค์ของน้ำเสียงและการแหล่ที่มีเอกลักษณ์ เฉพาะตัวทำให้ก้าวเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งด้วยการใช้พื้นฐานเดิมจากเพลงอีแซว เพลงแหล่ และลิเก มาปรับประยุกต์ใช้ในการขับร้องเพลงจนเป็นที่จับใจผู้ฟังเพลงทั่วประเทศต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงกว่า 2,000 เพลง
นายไวพจน์ เป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีพลังเสียงก้องกังวาน มีผลงานโดดเด่นเป็นพิเศษในการร้องเพลงแหล่ จนได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาเพลงแหล่จากเมืองสุพรรณที่มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเพลงแหล่มากที่สุดในประเทศไทย” มีผลงานที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ หนุ่มนารอนาง, สาละวันรำวง, แตงเถาตาย, ให้พี่บวชเสียก่อน นอกจากจะมีความสามารถสูงในการร้องเพลงแล้ว ครูไวพจน์ยังมีความสามารถเฉพาะตัวแต่งเพลงให้ตนเองและลูกศิษย์ขับร้องจนมีชื่อเสียงจำนวนมาก อาทิ เพลงแก้วรอพี่ นักร้องบ้านนอก เป็นต้น ครูไวพจน์ได้รับรางวัลนักร้องดีเด่นจากงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งครั้งที่ 1 จากเพลงสาละวันลำวง และงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งครั้งที่ 2 จากเพลงแตงเถาตาย ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ รางวัลพระพิฆเนศทองคำ เป็นต้น
นายไวพจน์ นับเป็นบุคคลแบบอย่างแก่ศิษยานุศิษย์ในการอุทิศตนให้กับงานด้านศิลปะการแสดงจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งการขับร้องเพลงลูกทุ่ง เพลงพื้นบ้าน อีแซว เพลงเรือ เพลงแหล่ ที่ถ่ายทอดให้ผู้ฟังเกิดความสนุกเพลิดเพลิน พร้อมทั้งแฝงแง่คิดและหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการบรรพชาและการอุปสมบทแทนคุณบิดา มารดา อันแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเหลาพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านานจนถึงปัจจุบัน นายไวพจน์ สกุลนี จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ปี 2540.-สำนักข่าวไทย