สธ. 24 ธ.ค.- สธ. แจงเคสสามีภรรยากาฬสินธุ์ ถือเป็นคลัสเตอร์แรกติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศ เร่งสอบละเอียด จำกัดวง ย้ำคนเดินทางเพิ่งเข้าประเทศอย่าเพิ่งรีบเจอญาติ เพราะอาจอยู่ในระยะฝักตัวของเชื้อ ชี้ 3 ปัจจัยติดเชื้อ กินข้าวร่วมกัน อากาศไม่ถ่ายเท พูดคุยกันนาน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเคสสามีภรรยาเบลเยียม ที่ จ.กาฬสินธุ์ ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นอุทาหรณ์ถึงความไม่ประมาท เพราะการเดินทางเข้ามาด้วยระบบ T&G แม้จะมีการตรวจ RT-CPR ก่อนเข้าไทย 72 ชม. เมื่อเข้าไทยตรวจซ้ำอีกครั้งในรอบ 24 ชม. ก็ยังไม่การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ อาจอยู่ในช่วงระยะฟักตัวของโรค ฉะนั้นสำหรับคนไทยที่เพิ่งกลับเข้าประเทศมาในช่วง อย่าเพิ่งรีบไปพบญาติ หรือรวมตัวกัน เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อจากช่วงระยะฟักตัว และคนที่มีญาติเพิ่งมาจากต่างประเทศก็อย่าเพิ่งรีบไปเจอ หรือรวมตัวกัน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เคสนี้ถือเป็นอุทาหรณ์อย่างดี ว่าทำไมถึงต้องมีการปรับและระงับ T&G ชั่วคราวก่อน เพื่อวางระบบใหม่ เพราะอาจมีเคสแบบนี้หลุดรอดออกจากระบบได้ จึงต้องใช้กลไกการเฝ้าระวังสอบสวนโรค แบบละเอียดเพื่อหาคนใกล้ชิด หรือที่เรียกว่า วง 1 หรือวง 2 รวม ตอนนี้คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ 22 คน และเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก ถือเป็นคลัสเตอร์แรกที่มีการติดเชื้อในประเทศ และมีการแพร่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ และอุดรธานี ต้องสอบไทม์ไลน์อย่างละเอียด สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อจากเคสนี้ คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน นั่งอยู่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรืออากาศปิด และมีการพูดคุยกันเป็นเวลานาน
นพ.โอภาส กล่าวว่า ฉะนั้นการทำกิจกรรมในหมู่ญาติก็ต้องระวัง สวมหน้ากากอนามัย และนั่งในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และอย่าทำกิจกรรมร่วมกันนานเกินไป การตรวจไม่เจอเชื้อทั้ง RT-PCR และ ATK ก็เป็นแค่การยืนยันในวันนั้นวันเดียวว่าไม่เจอเชื้อ ไม่ได้หมายความว่าวันอื่นจะไม่เจอเชื้อ ดังนั้นระบบของ T&G จึงปรับมีการตรวจใหม่ มีการตรวจ RT-CPR 72 ชม. ก่อนเข้าไทย และ ตรวจเมื่อถึงไทย 24 ชม. จากนั้น 5-6-7 วัน จึงค่อยมาตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง ฉะนั้นคนที่เพิ่งกลับมาอย่าเพิ่งเดินไปไหน เพราะอาจมีความเสี่ยงที่อยู่ในช่วงระยะฝักตัวของเชื้อก็ได้.-สำนักข่าวไทย