กรุงเทพฯ 2 ธ.ค.-“หมอยง” เผยศูนย์จุฬาฯ เร่งพัฒนาตัวจับจำเพาะต่อสายพันธุ์โอไมครอนเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว ปัจจัยสำคัญในการควบคุมโรค โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องสงสัยและจำเป็นต้องตรวจหา คือกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน -ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อ-เคยป่วยแล้วติดเชื้อซ้ำ-มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan วันนี้ (2 ธ.ค.) เรื่องโควิด-19 การตรวจหาเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ต้องทำได้อย่างรวดเร็ว ว่า ปัจจัยสำคัญในการควบคุมโรค covid-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในบ้านเราจะต้องทำได้อย่างรวดเร็ว การตรวจวินิจฉัยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา ให้ได้อย่างรวดเร็ว
ในต่างประเทศ ชุดตรวจที่มีการตรวจยีน S หรือยีนหนามแหลมสไปท์ ร่วมกับการตรวจยืนอื่น และถ้าให้ผลบวกต่อยีนอื่น โดยให้ผลลบต่อยีนหนามแหลมสไปท์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมค่อนข้างมาก จะเข้าข่ายสงสัยไว้ก่อนทันที แต่สำหรับประเทศไทยชุดตรวจส่วนใหญ่ RT PCR จะเป็นชุดตรวจ หายีน N ยีน E และยีน orf1ab หรือ RdRp ดังนั้น จึงใช้วิธีที่กล่าวไม่ได้
ขณะนี้ทางศูนย์ได้พัฒนา probe ตัวจับจำเพาะ ต่อสายพันธุ์ โอไมครอน เพื่อการวินิจฉัยให้ได้รวดเร็วที่สุด ที่ผ่านมาก็มีตัวจับจำเพาะ (probe) ต่อสายพันธุ์แอลฟา สายพันธุ์เดลตาอยู่แล้ว สามารถทำพร้อมกันได้เป็นจำนวนมากและใช้เวลาเท่ากับการทำ RT PCR ธรรมดา คือประมาณ 4 ชั่วโมงก็สามารถที่จะบอกหรือคาดว่า เป็นสายพันธุ์ โอไมครอน ได้
การตรวจยืนยันจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีถอดรหัสพันธุกรรม โดยเฉพาะในรายที่สงสัยจากการตรวจกรองดังกล่าว ให้ได้อย่างรวดเร็ว
กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องสงสัยและจำเป็นต้องตรวจหาสายพันธุ์ โอมิครอน คือกลุ่มผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ผู้ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อ ผู้ที่เคยป่วยแล้วติดเชื้อซ้ำ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือการระบาดใน cluster ควรสุ่มตัวอย่างในคลัสเตอร์มาตรวจทุก คลัสเตอร์
การถอดรหัสพันธุกรรมสำหรับประเทศไทย จะต้องทำเพิ่มขึ้น และมีการสุ่มหลากหลายในประชากร งบประมาณในส่วนนี้จำเป็นจะต้องใช้เพิ่มขึ้นเพื่อการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดในประเทศไทย และมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างรวดเร็วด้วย.-สำนักข่าวไทย