สธ. 25 พ.ย.- “อนุทิน” เผยคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เคาะแผนเปิดประเทศระยะ 2 ต่างชาติเข้าไทยไม่ต้องกักตัว ลดค่าธรรมเนียมออกใบรับรองฉีดวัคซีน และจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด ขณะที่กรมการแพทย์ แจงยาออกฤทธิ์ในระดับเซลล์เหมือนกันเหมาะใช้ในการกลุ่มอาการน้อยถึงปานกลาง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและลงนามจัดซื้อโมลนูพิราเวียร์ ว่า ที่ประชุมมีมติ 3 เรื่อง คือ 1.เห็นชอบแนวทางปฏิบัติของคนต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยตามนโยบายการเปิดประเทศระยะที่ 2 เริ่ม 1 ธ.ค.64 โดยไม่กักตัว หากมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง ซึ่งปัจจุบันมี 63 ประเทศในระบบ Test & Go ซึ่งสธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด 2.เห็นชอบยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกวัคซีนพาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมที่เก็บ 50 บาทและเพิ่มจุดการขอเอกสารดังกล่าวเพิ่ม 120 แห่งทั่วประเทศ กทม.อยู่ที่รพ.บางรัก,สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.)และอีกทั่วประเทศ และ 3. การจัดซื้อยารักษาโรคเพิ่มเติม โดยวันนี้ลงนามซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ แล้ว 50,000 คอร์ส จำนวน 2 ล้านเม็ด และกำลังเจรจาซื้อยาแพกซ์โลวิดเพิ่มเติมจำนวนเท่ากันคือ 50,000 คอร์ส จำนวน 2 ล้านเม็ด โดยผู้ป่วย 1 คน ใช้ 40 เม็ด ส่วนเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส คาดครบในสิ้นเดือนนี้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการให้ยารักษาโควิด-19 ของประเทศไทยปัจจุบัน หากไม่มีอาการก็ให้ยาฟ้าทะลายโจร อาการไม่มากถึงปานกลางก็ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษาวิจัยระยะ 3 ผลเหมาะสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ถึงปานกลาง ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญศึกษา รวมถึงวางเกณฑ์การให้ยาโมลนูพิราเวียร์และ แพกซ์โลวิดสำหรับผู้ป่วย คาดว่าเกณฑ์การให้ยา จะมีความชัดเจน กลางเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ การออกฤทธิ์ ของ ยาโมลนูพิราเวีย์ และฟาวิพิราเวียร์ ออกฤทธิ์ที่เดียวกัน โดยยับยั้งการจำลองตัวเชื้อในเซลล์ แต่แพกซ์โลวิดออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างโปรตีนในเซลล์ แต่ยาแพ็กซ์โลวิด ซึ่งต้องกินคู่กับยาริโทนาเวียร์ ประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ และ ยาแพกซ์โลวิด เหมาะสำหรับใช้ในกลุ่มที่ 607 ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่มีการศึกษา อย่างไรก็ตามยาโมลนูพิราเวียร์ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะผ่านการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา หรือ FDA และเข้า อย.ไทย กว่าจะเข้ามาน่าจะเป็นไตรมาสแรกปี 2565 ได้เร่งรัดบริษัทนำเข้าให้ได้ในเดือนม.ค. 65 ส่วนแพกซ์โลวิด ตอนนี้เป็นการเจรจาทางวาจา อยู่ระหว่างการทำสัญญา ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาก่อนเสนอครม.ขออนุมัติวงเงิน .-สำนักข่าวไทย