กรุงเทพฯ 2 พ.ย.- กบน. เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์กู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2 หมื่นล้านบาท ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เตรียมพร้อมนำเสนอ ครม. เห็นชอบ พร้อมแจงกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เคยนำส่งเงินเข้ารัฐ
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเนื้อหาและสาระสำคัญร่างหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินตามที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอ เพื่อเตรียมพร้อมสภาพคล่องในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจัดทำหลักเกณฑ์การกู้เงินตามกรอบของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การกู้เงินดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าที่ผ่านมาได้มีการโอนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลกว่า 20,000 ล้านบาท ขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ตั้งแต่ตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมายังไม่เคยนำเงินกองทุนฯ เข้านำส่งเป็นรายได้กระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันว่าการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นไปตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อย่างเคร่งครัด โดยในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการดำเนินงานให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนดเท่านั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน บรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ในขณะนี้ และการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG ครัวเรือนตลอดทั้งปี 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19
“การเตรียมกู้เงินในครั้งนี้ ก็เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทเนื่องจากน้ำมันดีเซล เป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจหากปล่อยให้มีราคาสูงเกินไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการ ค่าขนส่ง ค่าสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะควบคุมการใช้เงินกู้อย่างเข้มงวด และเป็นไปตามข้อกฎหมาย” โฆษกกระทรวงพลังงานกล่าว.-สำนักข่าวไทย