สำนักข่าวไทย 24 ส.ค.-กรมวิทย์ ร่วมศูนย์จีโนม รามาธิบดี เผยผลสุ่มตรวจโควิดสายพันธุ์เดลตา พบสายพันธุ์ย่อย 4 ตัวหลัก กลุ่มตระกูล AY ซึ่งเป็นลูกหลานมาจากสายพันธุ์เดลตาหลักที่ระบาดในไทย ยันไม่ใช่สายพันธุ์เกิดใหม่ในไทย ยังไม่พบว่าดื้อต่อวัคซีน ต้องเฝ้าระวังต่อไป
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการพบสายพันธุ์ย่อยเดลตา ในประเทศไทย ว่า จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ และการกลายพันธุ์โควิด-19 พบว่าโควิดสายพันธุ์เดลตา ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักของไทยแล้ว พบมากถึง 93% จากการสุ่มตรวจในทุกเขตสุขภาพ รวม 2,295 คน พบเป็นเดลตา 2,132 คน อัลฟา 134 คน เบตา 29 คน แบ่งเป็น กทม. พบเดลตา 97% และภูมิภาค เป็นเดลตา 85% ทั้งนี้ จากการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่พบการระบาดของเดลตาใน จ.สุพรรณบุรี ที่เดียว แต่ขณะนี้ครอบคลุม 77 จังหวัดแล้ว ส่วนการติดตามเบตายังพบในภาคใต้เท่านั้น อยู่ในนราธิวาส 15 คน และรองลง กระบี่ ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ไม่ได้มีการแพร่ระบาดเร็ว ดังนั้นหากคุมโรคให้ดี ก็จะสามารถทำให้เบตาหายไปจากไทยได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของเดลตาที่กว้างขวางทำให้เริ่มตรวจพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตา ซึ่งเป็นธรรมดาของเชื้อไวรัสที่ต้องมีการพัฒนา หากมีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้มีความรุนแรงขึ้นก็ไม่เป็นไร ซึ่งการพบสายพันธุ์ย่อยนี้ ในไทยนี้ ไม่ได้พบในไทย เป็นครั้งแรก พบในที่อื่นมาก่อน เพียงแต่จาการสุ่มตรวจของกรมวิทย์ ทำให้รู้ว่า ขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์เดลตา ที่มีการระบาดในไทย ได้มีการลูกหลานเกิดขึ้น เบื้องต้นยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่มีความรุนแรง แต่ก็ต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า จากข้อมูล GISAID (จีเสด )ซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลาง ที่มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการถอดรหัสพันธุ์ไวรัสทั่วโลก โดยนักวิชาการ จากนั้นนำข้อมูลมาอัปเดตไว้ โดยมีการรวบรวมข้อมูลไวรัสมากถึง 3 ล้านตัวอย่าง เพื่อมาศึกษาวิวัฒนาการของไวรัส ทำให้ทราบว่า ขณะนี้ไวรัสเดลตา มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปถึง 60 ตำแหน่ง จากเดิมที่วิวัฒนาการของไวรัสโควิดที่พัฒนาจากอู่ฮั่น มาเป็นเดลตา เป็นเครื่องชี้ว่ามีการแพร่จากคนสู่คนจำนวนมาก เรื่องนี้มีเกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว ทั้งอังกฤษ เดนมาร์ก สเปน โดยในส่วนสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้น พบมากถึง 20 สายพันธุ์ แต่ในไทยพบสายพันธุ์ย่อย 4 ตัว ได้แก่ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 พบ 3% ในเขตจังหวัดปทุมธานี 4 คน, AY.6 หรือ B.1.617.2.6 พบ น้อยกว่า 1 % พบในไทย 1 คน, AY.10 หรือ B.1.617.2.10 พบน้อยกว่า 1% พบในเขตกทม. 1 คน, AY.12 หรือ B.1.617.2.15 พบน้อยกว่า 1% พบในเขตพญาไท กทม.
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า การรายงานพบกลุ่มสายพันธุ์ย่อยในกลุ่ม AY ทั้ง .4 ถึง .12 เมื่อสอบทานถึงที่มาสายพันธุ์ย่อยที่พบในไทย พบว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย และยังต้องมีการติดตามข้อมูลต่อไปว่ามีการดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ หรือแพร่เร็วขึ้นหรือไม่อย่างไร
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ มีการติดตามสถานการณ์ การระบาด และสายพันธุ์เดลตาตลอด ล่าสุดอัปเดตข้อมูล 9 ส.ค. ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อย AY 20 กว่าตัว แต่ยังไม่พบเชื้อเดลตาพลัสที่เจอในอินเดีย โดยจากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว 1,955 ตัวอย่าง สุ่มตรวจตั้งแต่ พ.ค. 64 พบว่าเป็นอัลฟา 71% เดลตา 23% ล่าสุด AY.4 พบ 9 ตัวอย่าง พบมากสุดที่ปทุมธานี 4 ตัวอย่าง บุรีรัมย์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ สมุทรปราการ และชลบุรี จังหวัดละ 1 ตัวอย่าง AY .6 ราย ที่ กทม. AY .10 พบ 1 ตัวอย่างที่ กทม. และ AY .12 พบ ที่สุราษฎรธานี 2 ตัวอย่าง และ กทม. 1 ตัวอย่าง จากนี้กรมวิทย์ฯ จะถอดรหัสพันธุกรรม ไปจนสิ้นปี 64 ตั้งเป้า 6,000 ตัวอย่าง.-สำนักข่าวไทย