กทม. 25 เม.ย.-“หมอยง” เผยยังไม่พบสายพันธุ์อินเดียในประเทศไทย ย้ำคนไทยควรฉีดวัคซีนโควิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะได้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง โดยผลวิจัยยืนยันฉีดครบ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันเทียบเท่าคนติดเชื้อโควิดที่หายแล้ว
นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดให้กับคนไทย มีประสิทธิภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึงร้อยละ98 ถึงร้อยละ99 จากผลการวิจัยในการฉีดวัคซีนของประเทศจีน พบว่า หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว 2 ใน 3 เริ่มตรวจพบภูมิต้านทาน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อฉีดเข็มที่ 2 ต่อเนื่องในช่วง 2-3 สัปดาห์ พบภูมิคุ้มกันเพิ่มสูง เท่ากับผู้ติดเชื้อที่หายแล้วมีภูมิ จึงขอให้มั่นใจว่าวัคซีนช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานได้อย่างแน่นอน
ส่วนการกลายพันธุ์ของไวรัส ถ้าไวรัสมีการแพร่ระบาดมาก ก็จะมีโอกาสเกิดการผ่าเหล่า ซึ่งสายพันธุ์ที่มีความแข็งแรง ก็จะอยู่ได้นาน แพร่ได้เร็ว ดังนั้นการป้องกันการกลายพันธุ์ คือ ต้องลดการแพร่ระบาดในจำนวนมาก
โดยการระบาดโควิดระลอกนี้ในประเทศ ร้อยละ 98 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนสายพันธุ์สมุทรสาครน้อยมาก ด้านสายพันธุ์อินเดีย ไม่เหมือนสายพันธุ์อังกฤษ เนื่องจากสายพันธุ์อินเดีย อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตาอยู่
โดยขณะนี้ประเทศไทย ยังไม่พบการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อินเดีย ทั้งนี้การป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัส คือ ต้องลดการแพร่ระบาดของโรค
จากข้อมูลผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย พบว่าผู้เข้ารับส่วนใหญ่ มีอาการความดันโลหิตสูง จากความตื่นกลัว และตกใจ จึงส่งผลให้ร่างกายมีปฏิกริยา เมื่อได้รับวัคซีน จึงขอให้ผู้ที่จะเข้ารับวัคซีนคลายความกังวล
นพ.ยง ย้ำว่า หากเปรียบเทียบความเสี่ยงจากากรฉีดวัคซีน กับประโยชน์ที่จะได้รับ พบว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า เช่น ประเทศอังกฤษ ที่ฉีดวัคซีนได้ครบ 100% แม้จะมีผู้ที่เกิดอาการไม่พึ่งประสงค์ ที่มีภาวะลิ้มเลือดอุดตัน แต่เห็นชัดว่าอัตราการเสียชีวิตของคนอังกฤษลดน้อยลง และสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น
ด้านนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากฐานข้อมูลขณะนี้ คาดว่ามีผู้ป่วยที่ยังรอเตียงจากสายด่วน 2,554 คน วันนี้จะต้องนำผู้ป่วยติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลให้มากที่สุด โดยจะมีการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยที่มีรายชื่อซ้ำซ้อน และจะโทรหาผู้ป่วยทุกราย แจ้งให้ไปจุดคัดกรอง เพื่อคัดแยกว่าเป็นผู้ป่วยระดับสีใด และจะนัดหมาย เพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป ซึ่งวันนี้ได้นำเข้าโรงพยาบาลแล้วหลายร้อยคน โดยผู้ป่วยที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ เข้าแล้ว 1,039 คนแล้ว และรอ แอดมิด 814 คน ปฏิเสธ 84 คน เนื่องจากขอกักตัวที่บ้าน หรือบางคนตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ส่วนที่ติดต่อไม่ได้ 116 คน และอื่นๆ 505 คน ย้ำไม่แนะนำให้อยู่บ้าน ส่วนการจัดตั้งศูนย์แรกรับน่าจะจัดตั้งภายในอาทิตย์หน้า คาดว่าจะได้เบื้องต้น ประมาณ 500 เตียง.-สำนักข่าวไทย