กรุงเทพฯ 8 มี.ค.-ศาลปกครองสูงสุดสั่ง กทสช. คืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 151.7 ล้าน ให้ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ชี้บกพร่องในการบริหารทีวีดิจิทัล
ศาลปกครอง วันนี้ (8 มี.ค.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาในคดีที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด โดยนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ โดยพิพาษาให้คณะกรรมการ กสทช. คืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แก่บริษัท ไทยทีวี จำกัด จำนวน 151,730,755.58 บาท และให้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำนวน 16 ฉบับ ที่บริษัทไทยทีวี จำกัด วางเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ของงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 6 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ไม่สามารถคืนได้นั้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด เนื่องจากศาลเห็นว่าบริษัทไทยทีวี มีสิทธิ์แจ้งยกเลิก การประกอบกิจการได้ตาม ที่เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ข้อ17 กำหนดไว้ให้ทำได้
ส่วนการบอกเลิกสัญญา ของบริษัทไทยทีวีเป็นไปโดยชอบด้วยเหตุผลหรือไม่เห็นว่าการที่บริษัทไทยทีวี จะสามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอันเป็นสิทธิ์ตามสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่ กสทช.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า หลังบริษัทไทยทีวีได้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในงวดที่ 1 ทั้ง 2 ช่องรายการแล้ว แต่ปรากฏว่าการดำเนินการของ กสทช.ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบอนาล็อก มาเป็นระบบดิจิทัลเกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดย กสทช. ให้ถ้อยคำยอมรับว่ากรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ดำเนินการติดตั้งและเปิดให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ อีกทั้งการแจกคูปองเป็นไปอย่างล่าช้าถึง 6 เดือน นับแต่วันออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ การประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชน ไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ รวมทั้งการใช้คูปอง เกิดความสับสนกับขั้นตอนและกระบวนการแจกคูปองหยุด ไม่สามารถแจกคูปองให้กับประชาชนได้ครบทุกพื้นที่ ทำให้การแลกซื้อเครื่องรับสัญญาณเป็นไปอย่างล่าช้า กรณีดังกล่าวจึงย่อมส่งผลต่อแผนการลงทุนของบริษัทไทยทีวีทั้งในด้านภาระต้นทุนและระยะเวลาการคืนต้นทุน รวมถึงยังมีความบกพร่อง ในเรื่องการควบคุมคุณภาพการรับส่งสัญญาณ ให้ผู้ใช้บริการสามารถรับชมบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กสทช .
เมื่อสัญญาพิพาทเป็นการตกลงให้บริษัทไทยทีวี ซึ่งเป็นเอกชนนำทรัพยากรสื่อสารของชาติไปหาประโยชน์โดยรัฐได้รับประโยชน์จากค่าใช้คลื่นความถี่แต่ทรัพยากรดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะที่เป็นรูปธรรมใช้สิ้นเปลืองหมดไป เหมือนทรัพยากรธรรมชาติโดยทั่วไป แต่เป็นคลื่นความถี่ซึ่งไม่อาจจับต้องได้ ที่รัฐอาจได้รับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์หรือให้เอกชนอื่นประมูลเพื่อนำไปหาประโยชน์ต่อไปได้ รัฐจึงไม่สมควรแสวงหากำไรจากเอกชนมากเกินสมควร ดั งนั้นเมื่อรัฐได้คลื่นความถี่กลับคืนมาแล้ว การได้รับค่าธรรมเนียมจึงต้องสอดคล้องกับที่ บริษัทไทยทีวีได้ใช้ประโยชน์ไปแล้วตามความเป็นจริงและสอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถคืนใบอนุญาตและมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย
เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าบริษัทไทยทีวีได้ใช้ คลื่นความถี่ ที่ได้รับอนุญาตไปเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้นกว่าที่กำหนดในใบอนุญาตมาก จึงไม่สมควรต้องชำระค่าธรรมเนียมมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับสมควรกำหนดให้บริษัทไทยทีวี ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ตามที่ได้ใช้ประโยชน์ตามความเป็นจริงโดยคำนวณเป็นค่าธรรมเนียมปีละเท่าๆกัน เมื่อบริษัทไทยทีวีมีหนังสือลงวันที่ 25พ.ค 58 ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้ง 2 ช่องรายการหลังจากนั้นได้ชี้แจงการยุติการให้บริการผ่านการขึ้นอักษรตัววิ่งจอโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องรายการตลอดวันตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย 58 ถึง 24 ก.พ.58 บริษัทไทยทีวี จึงไม่สมควรต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตั้งแต่วันดังกล่าว จึงมีคำพิพากษา ให้ กสทช. คืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แก่บริษัทไทยทีวีตามจำนวนดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย