รัฐสภา 27 ม.ค.-สภาฯ ผ่านปลดล็อกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติดฉลุย มีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจาฯ ให้เวลาร่างกฎหมายรอง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (27ม.ค.) มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธาน ที่ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…)พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานว่า ตามที่ที่ประชุมสภาฯพิจารณารับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งได้ใช้ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นหลักพิจารณา และมีข้อสังเกตท้ายรายงานเพื่อให้สภาพิจารณาคือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษ
“ประชาชนผู้บริโภคพืชกระท่อมจะบริโภคได้โดยไม่มีความผิด และไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย เว้นแต่จะนำไปผสมสารเสพติดชนิดอื่น จะทำให้ผู้บริโภคจะมีความรู้สึกที่ดีได้รับการยอมรับจากสังคมว่าไม่ใช่ผู้ติดยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกรรมาธิการฯ แก้ไขให้เหมาะสมจากเดิมที่กำหนดไว้ 180 วัน โดยยกเลิกโทษพืชกระท่อมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้ในชีวิตประจำวันตามวิถีดั้งเดิม ลดภาระงานงบประมาณของรัฐในการจับกุมและดำเนินคดี รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมพืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ เพราะพืชกระท่อมคือสมุนไพรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีศักยภาพที่ควรนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดกับประเทศโดยเฉพาะเกษตรกร จึงควรผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลโดยเร็ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ประชาชนผู้นิยมบริโภคพืชกระท่อมอาจะเข้าใจผิดว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน อาจเกิดการใช้พืชกระท่อมอย่างเสรีทันที และอาจถูกจับกุมในช่วงที่กฎหมายยังไม่มีผล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ ขณะที่ระยะเวลาใช้บังคับของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม อีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้มีมาตรการควบคุมการใช้พืชกระท่อม หลังจากยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว โดย ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม กรรมาธิการฯเห็นว่าไม่ควรมีข้อจำกัดเหมือนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพราะพืชกระท่อมเป็นยาสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่กำหนดไม่ให้เกิดการใช้ในเด็กแล้วเยาวชน การปลูกที่เท่าเทียมกัน เป็นต้น ส่งเสริมด้านการแปรรูปให้เกิดประโยชน์ ผลิตยาสมุนไพรแก้โรคต่าง ๆ ให้เป็นธุรกิจที่ส่งออกได้ทั่วโลก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 2 ประเด็นการกำหนดเวลาบังคับใช้กฎหมายภายหลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยมีสมาชิกบางส่วนอยากให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในทันที โดยนายสมศักดิ์ชี้แจงว่าการกำหนดระยะเวลา 90 เพื่อให้เวลากับการร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่เป็นกฎหมายรองในการควบคุมการใช้พืชกระท่อม ไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึง รวมถึงไม่นำไปใช้ผิดประเภทหรือนำไปผสมกับยาเสพติดชนิดอื่น ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขของ กรรมาธิการฯ ให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วยคะแนน 326 ต่อ 5 เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ด้วยคะแนน 319 ต่อ 7 เสียง และดำเนินตามกระบวนการเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป.- สำนักข่าวไทย