รัฐสภา 20 ม.ค. – สภาฯ เห็นชอบแก้ ป.วิอาญา เปิดทางยุติตั้งครรภ์แบบมีเงื่อนไข ทำแท้งกรณีไม่พร้อมได้ อายุครรภ์ต้องไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยันไม่ใช่ทำแท้งเสรี
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมาก 276 ต่อ 8 เสียง เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไข ได้แก่ การกำหนดอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยมีเงื่อนไข และการลดโทษหญิงที่ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก เมื่ออายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ จากไม่เกิน 6 เดือนเป็น 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายให้การทำแท้ง ทำได้หากแพทย์รับรองให้จำเป็นต้องกระทำจากความเสี่ยง หรือเชื่อได้ว่าทารกที่จะคลอดออกมามีความผิดปกติ ทุพพลภาพอย่างร้ายแรง หรือหญิงที่ยืนยันต่อแพทย์ว่ามีครรภ์จากการกระทำผิดทางเพศ และการแก้ไขกฎหมายให้หญิงที่มีอายุครรภ์ 12 แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ หรือประมาณ 4-5 เดือน ที่ยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ หลังรับคำปรึกษาจากแพทย์ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และหน่วยง่านที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อาทิเช่น ปัญหาการท้องไม่พร้อม เป็นต้น
นายสันติ กีระนันท์ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ไม่ได้เปิดให้ทำแท้งเสรี หรือยุติการตั้งครรภ์แบบเสรี เพียงแต่ยินยอนให้ยุติการตั้งครรภ์แบบมีเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ เพื่อเปิดช่องทางให้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
ขณะที่ ส.ส.มุสลิม เห็นว่าการปฏิสนธิเมื่อเป็นตัวอ่อนแล้ว ย่อมได้วิญญาณจากพระผู้เป็นเจ้า หลังพ้นอายุครรภ์ 120 วันแล้ว ดังนั้นการทำแท้งหลัง 120 วัน จึงไม่สามารถทำได้ เพราะผิดหลักศาสนา เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นพิเศษ เช่น เป็นอันตรายต่อชีวิตมารดา และแม้อายุครรภ์จะเกิน 120 วันไปแล้ว พบภายหลังว่าร่างกายไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถไปทำลายชีวิตนั้นได้ ขณะที่ ส.ส.อีกส่วนหนึ่งเสนอให้สามารถทำแท้งได้ กรณีที่ถูกกระทำผิดทางเพศ โดยไม่จำกัดอายุครรภ์
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้วุฒิสภา นำไปพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน ก่อนส่งร่างกฎหมายกลับไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป.-สำนักข่าวไทย