กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – ผู้ให้บริการระบบขนส่ง ทั้งรถโดยสาร ระบบราง เรือโดยสาร ยอมรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำอ่วม ทำผู้โดยสาร-รายได้ลดลงถ้วนหน้าแล้ว
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ยอมรับว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.คนใหม่นั้น ต้องเข้ามาทำงานในช่วงที่ธุรกิจมีความท้าทาย เนื่องจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารได้เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด- 19 ทำให้ปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารลดลงอย่างมาก หากเปรียบเทียบการเดินทางตั้งแต่เดือน มี.ค.63 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีผู้โดยสารหายไปกว่า 60-70% โดยพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยที่ 30,000 คน/วัน จากเดิมมีปริมาณเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 คน/วัน ส่วนยอดคืนตั๋วการเดินทางก็มีมาต่อเนื่อง
นายสรพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน บขส. ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 43 ล้านบาท/เดือน หรือ รวมจากที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขาดทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท ดังนั้น บขส.จึงต้องปรับลดรายจ่ายทั้งองค์กร ชะลอการรับพนักงานใหม่ หรือ เปิดโครงการหยุดทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทน รวมถึงให้เน้นเพิ่มรายได้ ต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์อย่างเต็มตัว เพิ่มจากเดิมที่ขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว เนื่องจากปัจจุบันได้มีการขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ใต้ท้องรถ และ มาเสริมวางบนที่นั่งที่ไม่มีผู้โดยสารพบว่า ทำรายได้ให้ บขส. กว่า 170 ล้านบาท/ปี ซึ่งล่าสุดทาง บขส.ได้เตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.มีมติอนุมัติในการเปลี่ยนมติ ครม.ให้ บขส. สามารถดำเนินธุรกิจ ขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้ จากเดิม มติ ครม.ได้ให้ บขส. ทำธุรกิจขนส่งผู้โดยสารอย่างเดียว
นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด กล่าวยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ทำให้นครชัยแอร์ประสบปัญหามีผู้โดยสารลดลงและขณะนี้สามารถวิ่งเที่ยวรถเพื่อให้บริการไม่ถึง 15 % ของในช่วงปกติเท่านั้น โดยเป็นการลดเที่ยววิ่งในทุกเส้นทางทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยอมรับว่า ปัจจุบันบริษัทยังมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆเหมือนปกติทั้งในเรื่องของค่าขา ค่าเข้าใช้พื้นที่จอดสถานีในส่วนภูมิภาค และแม้ว่าจะให้บริการเที่ยววิ่งน้อยลง แต่นครชัยแอร์ก็ไม่สามารถลดจำนวนพนักงานได้เนื่องจาก ปัจจุบันทั้งพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถก็ถือว่าเป็นแรงงานฝีมือ พี่ไม่สามารถหาทดแทนได้ง่ายหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยอมรับว่า ผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าในกำกับดูแลของ รฟม. ลดลงประมาณ 50% เช่นในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินซึ่งปกติมีผู้ใช้บริการต่อวันประมาณ 400,000 คนขณะนี้เหลือเพียงเกือบ 200,000 คนเท่านั้น ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งปกติมีผู้โดยสารใช้บริการต่อวัน 40,000 ถึง 50,000 คน ปัจจุบัน มีผู้โดยสารเดินทางเฉลี่ยวันละ 20,000 คนเท่านั้น
โดยสาเหตุสำคัญที่จำนวนผู้โดยสารลดลงก็มาจากส่วนหนึ่ง ที่มีการพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลและมีการแจ้งไทม์ไลน์ การเดินทางของผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้โดยสารที่เคยใช้บริการก็มีการหลีกเลี่ยงการเดินทาง รวมถึงนโยบายในการ Work from home ก็ทำให้มีผู้ใช้บริการเดินทางลดลงอยู่แล้วส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามยืนยันว่า แม้จำนวนผู้โดยสารปัจจุบันจะลดลงแต่ รฟม. ยังคงเข้มเรื่องมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด โดยขณะนี้มีการนำมาตรการเว้นระยะห่างบนรถ รวมถึงการคัดกรองผู้โดยสารที่ลงมาในพื้นที่ส่วนชานชาลา ไม่ให้มีการกระจุกตัวอยู่แล้ว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยอมรับว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอสผู้โดยสารก็ลดลงในสัดส่วนเท่ากันคือ 50% โดยขณะนี้บีทีเอส มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละประมาณ 300,000 คนจากช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโควิดระลอก 2 ซึ่งบีทีเอสมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละ 600,000 -700,000 คน และต้องยอมรับว่าหากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด ทั้ง 2 ครั้งนี้ บีทีเอสจะมีผู้โดยสารใช้บริการแตะ 1,000,000 คนไปแล้ว
นายเชาวลิต เมธยะประภาส หรือลุงถั่ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) ผู้ให้บริการเรือด่วนคลองแสนแสบ บอกว่า การระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ ทำให้ผู้โดยสารลดลงประมาณ 30% โดยขณะนี้เรือด่วนคลองแสนแสบมีผู้ใช้บริการประมาณ 20,000 คนจากช่วงก่อนหน้า ที่มีผู้ใช้บริการประมาณกว่า 30,000 คน/วัน โดยต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเรือคลองแสนแสบไม่เคยมีปัญหาขาดทุนแต่ในขณะนี้ก็ประสบภาวะขาดทุนแล้ว
โดยปัจจัยที่ทำให้การลดลงของผู้โดยสารรอบนี้มากกว่าการระบาดในรอบแรก เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประชาชนผู้เดินทางมีการปรับตัวในเรื่องของการเดินทางและการทำงานได้แล้ว โดยใช้แนวทางของการ work from home ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีสถานการณ์น่าเป็นห่วง ในส่วนของผู้ประกอบการค้าขาย ธุรกิจขนาดเล็กที่ขณะนี้ ประสบปัญหาขาดทุนต้องเลิกกิจการ ก็ทำให้ทั้งพนักงานลูกจ้างต่างๆต้องลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางวัน ต่อวันลงไปด้วย
ส่วนผลกระทบต่อบริการสายการบินนั้น นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลงานด้านขนส่งอากาศ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวนเที่ยวบินในแต่ละเส้นทางมีการปรับลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 40 แต่รายละเอียดของการยกเลิกเที่ยวบินจะต้องรอข้อมูลสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สรุปตัวเลขที่เป็นทางการ
ด้านการติดต่อขอมาตรการเยียวยาของผู้ประกอบการสายการบินต่างๆ ยังไม่ทราบ เนื่องจาก กพท. เป็นผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด แต่ในส่วนของสนามบินภูมิภาคที่ ทย.กำกับ ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการสายการบินรายใดติดต่อผ่านเข้ามา
ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั้ง 6 สายการบิน ที่ใช้บริการสนมาบิน 28 แห่งของกรม ประกอบด้วย ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์ ไทยเวียทเจ็ท แอร์เอเชีย ไลออนแอร์ ได้ยกเลิกเส้นทางบินอย่างต่อเนื่องทุกวัน
เบื้องต้น กรมฯ ได้เสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสายการบินไปยัง กพท. เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว จะลดค่าธรรมเนียมขึ้น – ลงอากาศยานร้อยละ 50 ค่าจอดอากาศยานร้อยละ 90 และลดค่าเช่าให้ผู้ประกอบการร้านค้าในสนามบินร้อยละ 50 ไปถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ คาดว่า จะทำให้รายได้หายไปประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งกรมจะต้องขอรับการเยียวยาจากรัฐต่อไป
สำหรับผลกระทบที่มีต่อภาพการเดินทางนั้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ได้ออกเอกสารแจ้งสื่อมวลชนว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.มีจำนวนลดลง ประมาณ 40 % ขสมก.จึงได้มีการประชุมผู้บริหารเขตการเดินรถที่ 1- 8 และบริษัทเหมาซ่อม เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการเดินรถให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการ โดยลดจำนวนรถออกวิ่งลงให้มีความสอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการในปัจจุบัน (เฉพาะเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการลดลง )
ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ก็ได้ออกประกาศงดเดินขบวนรถท่องเที่ยว และขบวนรถเชิงพาณิชย์ รวด 42 ขบวน โดยเป็นขบวนรถท่องเที่ยว จำนวน 12 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2564 และขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 30 ขบวน ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยผู้โดยสารสามารถคืนเงินตั๋วโดยสารเต็มราคา ซึ่งแน่นอนว่าการงดขบวนรถทั้ง 42 ขบวนก็จะทำให้ รฟท.มีรายได้ลดลงเช่นกัน . – สำนักข่าวไทย