กรุงเทพฯ 27 พ.ย. – ธปท. ออกใช้ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ธปท. ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และยังเป็นการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญตลอดจนพระราชพิธีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย โดยจะนำออกใช้ในวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบ 1 ปี ของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ธนบัตรที่ระลึกชุดนี้มี 2 ชนิดราคา คือ 1000 บาท จัดพิมพ์จำนวน 10 ล้านฉบับ และ 100 บาท จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านฉบับ โดยธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 1000 บาท มีรูปทรงแนวตั้ง โดยใช้หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้เป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ใช้อยู่ในธนบัตรแบบปัจจุบัน สำหรับชนิดราคา 100 บาท มีลักษณะโดยรวมและลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบ 17 ที่ใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน โดยปรับโทนสีธนบัตรให้เป็นสีเหลือง สำหรับภาพด้านหลังธนบัตรทั้ง 2 ชนิดราคา เป็นภาพจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ทั้งนี้ ธนบัตรที่ระลึกทั้ง 2 ชนิดราคา สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประชาชนสามารถแลกตามมูลค่าที่ตราไว้หน้าธนบัตรได้ที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และสำหรับชนิดราคา 100 บาท สามารถกดจากตู้กดเงินสดอัตโนมัติที่มีป้ายสัญลักษณ์ได้อีก 1 ช่องทางด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าธปท. ไม่ขอตอบถามถึงมาตรการดูแลค่าเงินบาท รวมถึงการนำแบงก์เป็ดเหลืองของม็อบราษฎรว่าผิดกฎหมายหรือไม่นั้นก็ปฏิเสธที่จะชี้แจงเช่นเดียวกัน
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีแบงก์เป็ดว่า การดูธนบัตรจริงหรือปลอม ต้องเห็นธนบัตรก่อน แต่ขณะนี้ธปท.ยังไม่เห็นธนบัตรดังกล่าวเลย อย่างไรก็ดี ในกรณีอื่นๆ ถ้าเจอว่าธนบัตรปลอมหน่วยงานที่พบก็จะส่งมาให้ธปท.ช่วยพิจารณาดู
ทั้งนี้ หลักการพิมพ์ธนบัตร ต้องออกโดยธปท. ออกโดยกฎหมาย และประกาศของกระทรวงการคลัง มีการลงนามโดยผู้ว่าการธปท. และ รมว.คลัง ซึ่งเป็นหลักการในการออกธนบัตร ส่วนกรณีอื่นๆ จะเป็นธนบัตรจริงหรือปลอมก็ต้องเทียบเคียงตามหลักการนี้
ส่วนเทรนด์การใช้จ่ายเงินสดในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะซบเซา คาดการณ์ว่า ในระยะข้างหน้าการเบิกจ่ายธนบัตรมีแนวโน้มลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะพฤติกรรมการชำระเงินของประชาชนที่หันมาใช้ e-Payment มากขึ้น ใช้เงินสดลดลง
ทั้งนี้หากดูปริมาณการใช้ธนบัตรในปัจจุบัน พบว่าแม้ปริมาณธนบัตรยังเติบโต แต่อัตราการโตเริ่มมีแนวโน้มลดลง ล่าสุดปริมาณการเติบโตธนบัตรเติบโตลดลง โดยอยู่เพียง 2-3% เท่านั้น หากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ที่ปริมาณการเติบโตของธนบัตรอยู่ที่ราว 5 – 6 % ต่อปี . – สำนักข่าวไทย