กรุงเทพฯ 5 พ.ย.- ข่าวดีค่าไฟฟ้าปีใหม่ลดลง 2.89 สต./หน่วย กกพ.คาดต้นทุนปีหน้าพุ่ง ตุนเงินเพื่อตรึงราคาทั้งปีไม่ขยับขึ้น ทั้งเงินดูแลค่าไฟฟ้าและตัดผลตอบแทน ROIC ของ 3 การไฟฟ้าลงร้อยละ 10 คาดปีหน้าโควิด-19 ทำการใช้ไฟฟ้ายังหดตัวจากปี 62 ร้อยละ 5
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 4 พ.ย. มีมติให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2564 เหลือ-15.32 สตางค์/หน่วย ลดลง 2.89 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.61 บาท/หน่วย โดยหากพิจารณาต้นทุนรวมแล้ว งวดนี้จะต้องลด 6.68 สตางค์/หน่วย แต่ กกพ.มองว่า งวดถัดไปทั้งปี 64 ต้นทุนหลักคือราคาก๊าซธรรมชาติขยับขึ้น อีกตามราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่ขณะนี้ราคากว่า 5-7 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ดังนั้น จึงเกลี่ยต้นทุนเพื่อรักษาระดับค่าไฟฟ้าปีหน้าให้ทรงตัวระดับนี้ เพื่อเป็นผลดีต่อการบริหารค่าไฟฟ้าของเอกชนและประชาชน จึงลดค่าไฟฟ้างวดนีัเพียง 2.89 สตางค์/หน่วยเท่านั้น
โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ลดลงเหตุผลหลักมาจากการต้นทุนราคาก๊าซลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ในขณะที่เงินบริหารค่าเอฟทีขณะนี้มีกว่า 4,129 ล้านบาท บริหารเอฟทีได้ราว 7 สตางค์/หน่วย และจะมีเงินเพิ่มจากการลดผลตอบแทนการลงทุน (ROIC ) ของ 3 การไฟฟ้า ราวร้อยละ 10 รวมแล้วประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ทำให้มีเงินเพิ่มเข้ามา ในการบริหารค่าไฟฟ้า หากพลิกผันไปมากกว่า ที่ กกพ.คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามจากที่มีการนำเงินไฟฟ้าไปช่วยลดภาระประชาชนและผู้ประกอบการจากผลของโควิด-19 ในปิ 63 มีการใช้เงินรวม 26,612 ล้านบาท ซึ่งมีการใช้เงินที่เกี่ยวข้องกับการดูแลค่าไฟฟ้าดูแล และยังขาดเงินในส่วนนี้ ราว 1,371 ล้านบาท ก็จะใช้เงินในส่วนของการบริหารค่าไฟฟ้ามาดูแลส่วนนี้
“ส่วนที่มีผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลงผลตอบแทนการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าจาก ROIC เป็น SFR นั้น กกพ.ได้หารือกับ ก.คลัง แล้วเห็นว่า ควรใช้ ROIC ดีกว่าเพราะการันตีผลตอบแทน ทำให้มีเงินเพียงพอที่จะลงทุนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ดีกว่า SFR ที่จะคำนวณเฉพาะให้มีเงินเพียงพอผลตอบแทนต่อการลงทุนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ได้ปรับ ROIC ให้ลดลงตามภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ลดลง เบื้องต้นการลดลงร้อยละ10จะนำมาใช้ในงบปี 63 ก่อน ส่วนปี 64 จะใช้ต่อหรือไม่ต้องดูความเหมาะสมทั้งหมด” นายคมกฤช
สำหรับปี 64 กกพ.ประเมินว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอาจจะลดต่ำกว่าที่ 3 การไฟฟ้า ประเมินว่าความต้องการใช้จะใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ประมาณ 197,873 ล้านหน่วย โดย กกพ.คาดว่าจะตำกว่าประมาณราวร้อยละ 5 เพราะคาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ยังมีต่อเนื่อง ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 63 นั้น เบื้องต้นคาดว่าจะต่ำกว่าปี 62 ที่ประมาณร้อยละ 3.8 ซึ่งในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้ของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารพาณิชย์ กลุ่มโรงแรมลดต่ำลง มีเพียงกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย ขยับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงปี 64 เพิ่มขึ้นมากกว่า กกพ.คาดการณ์ และ เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จะมีผลทำใหต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงลดลงต่ำกว่าประมาณการณ์
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟที ในงวด ม.ค.-เม.ย.2564 ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2564 เท่ากับประมาณ 60,685 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.2563 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 58,910 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2564 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักร้อยละ 55.32 นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศร้อยละ 14.92 ลิกไนต์ของ กฟผ.ร้อยละ 9.47 ถ่านหินนำเข้าร้อยละ 8.31 และอื่นๆ อีกร้อยละ 8.14
3. สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยรวมราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยแต่ละประเภทเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา ยกเว้นราคาถ่านหินนำเข้าที่ปรับตัวลดลงจากงวด ก.ย. – ธ.ค. 2563
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (วันที่ 1 – 31 ก.ย. 2563) เท่ากับ 31.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากประมาณการในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำนักงาน กกพ.จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บประจำเดือน มกราคม-เมษายน 2564 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 5-19 พฤศจิกายน 2563 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป.-สำนักข่าวไทย