กรุงเทพฯ 4 พ.ย. – กกร.เชื่อหาก โจ ไบเดน ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ชนะ ทุกอย่างจะไม่ต่างไปจากตอนนี้ แนะรัฐบาลเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าพหุภาคี ทั้ง FTA Thai-UK, FTA Thai-EU, CPTPP
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังเข้มข้นและล่าสุด นายโจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดิน จูเนียร์ หรือ “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต กำลังมีคะแนนนำหน้า นายโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคริพับลิกัน และยังไม่แน่ใจว่าที่สุดแล้วใครจะชนะนั้น
ในการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. วันนี้ (4 พ.ย.) ได้มีการหารือกันถึงประเด็นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะออกมาต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งในเบื้องต้น มองว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะส่งผลต่อนโยบายการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไปซึ่งมีผลทั้งบวกและลบ โดยหากนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐฯ และพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อาจจะส่งผลให้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ กับคู่ค้ามีแนวโน้มกลับมาผ่อนคลายมากขึ้น
การค้าจะเปิดเสรีมากขึ้น การเข้าสู่กติกาโลกจะมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมตามสากลจะมีมากขึ้น แต่ถ้าหาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ทุกอย่างก็จะเหมือนเดิมทั้งเรื่องการกีดกันทางการค้า รวมถึงนโยบายต่างประเทศแบบ ‘อเมริกาเฟิร์สต์’ จะยังคงมีต่อไป ซึ่งจะต้องติดตามผลการเลือกตั้งท้ายสุดที่จะออกมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่เป็น “สปอร์ตไลท์” ของสหรัฐอยู่ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สหรัฐสามารถเข้ามาทำธุรกิจและส่งสินค้าจีนก็เป็นไปได้ แต่จะให้ทำการติดต่อกับจีนโดยตรงคงไม่สะดวก และไทยก็เป็นประเทศที่ป้อนสินค้าต่าง ๆ รายใหญ่อยู่แล้ว ทั้งรถยนต์ อาหาร และสินค้าอื่น ๆ ดังนั้นสหรัฐต้องการจุดนี้ด้วย ส่วนเรื่องการที่สหรัฐระบุว่า จะเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น แต่ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรไทยหรือ จีเอสพี ออกไปนั้น ดังนั้นจะต้องพัฒนาสินค้าให้ดีที่สุด แม้ตลาดสหรัฐเป็นตลาดใหญ่ที่ยังต้องส่งสินค้าไปขาย แต่เสี่ยงเกินไปที่จะหวังพึ่งตลาดสหรัฐแต่เพียงอย่างเดียว และการค้าขายใช้เงินสกุลยูโร จะปลอดภัยมากกว่า
“โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าหาก “โจ ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ประเทศไทยจะได้รับผลบวกมากกว่า” นายกลินท์กล่าว
ขณะนี้ประเทศไทยจะต้องผลักดันข้อตกลงพหุภาคีให้ออกมาให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเดินหน้าให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทยสหภาพยุโรป และข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งในการหารือ กกร. ในวันนี้ ก็เน้นใน 3 ข้อตกลงทางการค้านี้ เพราะมีผลมากต่อประเทศไทย
“กกร.เห็นว่าเขตการค้าเสรี หรือ FTA เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะFTA ในกรอกใหม่และปัจจุบันยังอยู่ในการเตรียมการ เช่น FTA Thai-UK, FTA Thai-EU, CPTPP เป็นต้น ซึ่ง กกร.ได้พิจารณาแล้วว่ามีหลายข้อบทที่เกี่ยวเนื่องกันใน FTA เกือบทุกกรอบ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ได้แก่ UPOV (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่), CL (Compulsory Licensing), แรงงาน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดย กกร.จะเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐที่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ กับ กกร. เพื่อให้มีการเตรียมตัวครอบคุมในทุกภาคส่วน โดยอยากให้มีการจัดตั้งโดยเร็วเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสในเวทีการค้าโลก” นายกลินท์ กล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้สมัครแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้ง “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต และ นายดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรคริพับลิกัน ต่างคำนึงถึงผลประโยชน์สหรัฐเป็นหลักอยู่แล้ว เพียงแต่วิธีการต่างกันเท่านั้น โดย “โจ ไบเดน” มีสโลแกน Buy American เน้นให้ซื้อสินค้าทุกหมวดจากบริษัทของอเมริกาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หาก “โจ ไบเดน” ได้เชื่อว่า จะมีความยืดหยุ่นทางการค้าเสรีมากกว่า โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ จะไปคล้ายกับช่วงที่นายบารัค โอบามา ยังคงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และจะให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเข้มงวดในเรื่องพวกนี้ สงครามการค้าจะลดลงบทบาทลง จะมีการเจรจากับทางประเทศจีนมากขึ้น และมีโอกาสที่จะกลับเข้ามาอยู่ในข้อตกลง CPTPP ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมลดต้นทุนและขยายตลาดออกไปมากกว่าสหรัฐ เพราะไม่ว่า ใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐก็จะเน้นรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐมากขึ้น
“ตอนนี้ มองว่า “โจ ไบเดน” หากชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเป็นผลบวกต่อประเทศไทยมากกว่าแต่ในระยะสั้น แต่หลาย ๆ อย่าง ตาม สโลแกน Buy American จะมีผลกระทบอย่างไร ส่วน “ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์” เห็นถึงผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่กระทบเฉพาะประเทศเท่านั้น ทำให้การค้าทั่วโลกมีผลกระทบ จากการที่ ทรัมป์ดึงเศรษฐกิจไปที่สหรัฐทั้งหมด” นายสุพันธุ์กล่าว
นายสุพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าเงินที่แข็งค่ากดดันสินค้าไทยแล้ว 3-5% หากค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ในระดับประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะช่วยเหมือนประเทศไทยได้จีเอสพีสหรัฐกลับมา เพราะเงินบาทอ่อนค่า จะบรรเทาผลกระทบทำให้สินค้าไทยสามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกและตลาดอื่น ๆ ได้ดีขึ้น
สำหรับผลการประชุม กกร. ในวันนี้ ยังพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ด้วย เช่น ด้านเศรษฐกิจในภาพรวม กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยปลายไตรมาสที่ 3 ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ การส่งออกในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นมาก หดตัวเพียง 3.9% เทียบกับเดือนสิงหาคมที่หดตัว 7.9% ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ฟื้นตัวได้ดีสอดคล้องกับทิศทางของภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ส่วนการใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวโดยมีมาตรการของภาครัฐสนับสนุน สำหรับปีหน้าอาจจะมีปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำให้ค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดย กกร.นำคณะไปหารือกับกระทรวงคมนาคมเพื่อวางแผนรับมือในอนาคต
ด้านการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ที่รุนแรงในหลายประเทศเป็นความเสี่ยงหลักในช่วงที่เหลือของปี 2563 ประเทศหลักในสหภาพยุโรปประกาศล็อกดาวน์ประมาณ 1 เดือน กกร.ยังมองว่า ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้การล็อกดาวน์ในครั้งนี้จะเน้นจำกัดกิจกรรมของผู้บริโภค ไม่ได้ให้หยุดภาคการผลิต แต่ก็คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมแผ่วลง ในเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบ GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ราว 0.37-0.5% เนื่องจากคาดว่าจะมีผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออก
หากโควิด-19 ไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ กอปรกับเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เช่น มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ประชุม กกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัวได้ต่อไป
สำหรับทั้งปี 2563 กกร. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% ขณะที่คาดว่าการส่งออกจะหดตัวในกรอบ -10.0% ถึง -8.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1.0%
ด้านแผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจโรงแรมที่มีข้อเสนอของภาคเอกชนได้เสนอไปยังภาครัฐก่อนหน้านี้ เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงแรมที่ยังมีศักยภาพตามความเหมาะสม โดย กกร.ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยละเอียด
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องออกมาตรการปิดเมืองปิดประเทศหรือมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางของนักธุรกิจชาวต่างชาติ รวมทั้งวิกฤตินี้ ยังสะท้อนถึงปัญหาวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของกลุ่มบุคคลดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยได้แก้ไขปัญหาบางส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ การลดทอนเอกสารและลดขั้นตอนการดำเนินการ ตามประกาศกรมการจัดหางาน ลงนาม ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 แต่ยังไม่เพียงพอ
ดั้งนั้น กกร.จะส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของนักธุรกิจชาวต่างชาติ ดังนี้
1. เสนอให้สามารถยื่นขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าจาก Non-Immigrant O Visa เป็น Non-Immigrant B Visa ภายในประเทศไทยได้ เนื่องจากชาวต่างด้าวจำเป็นต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางของตนเพื่อเปลี่ยนประเภทวีซ่าดังกล่าว
2. เสนอให้แรงงานต่างด้าวทักษะสูงสามารถอยู่ในประเทศไทยต่อได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน หลังจากที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุหรือถูกยกเลิกไป เพื่อหางานใหม่
3. เสนอให้ยกเว้นการรายงานตัวทุก 90 วันแก่แรงงานต่างด้าวทักษะสูง โดยให้แจ้งเฉพาะกรณีที่มีการย้ายที่อยู่ถาวร
นอกจากนี้ กกร. ยังขอให้ภาครัฐเร่งรัดการจ่ายเงินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกโครงการภายใน 30 วัน หลังจากการตรวจรับเรียบร้อยเพื่อช่วยในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินภาคเอกชน .-สำนักข่าวไทย