กรุงเทพฯ 21 ก.ย. – กรมอุทยานฯ เตือนชาวประมงห้ามเข้าใกล้เกาะหินแตก หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี หลังฝนตกหนักจากพายุโนอึลทำภูเขาหินปูนถล่ม กำชับเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจและเฝ้าระวัง หวั่นถล่มลงมาเพิ่ม
นายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย หลังพบการพังทลายของเขาหินปูนและดินถล่มบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหินแตก ซึ่งเสียหายประมาณร้อยละ 15-20 ของพื้นที่เกาะ
ทั้งนี้ ลักษณะธรณีสัณฐาน (Geomorphology) ของเกาะหินแตก รวมถึงลักษณะภูมิประเทศทั้งหมดของหมู่เกาะอ่างทอง เป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst topography) ประกอบด้วย กลุ่มภูเขาหินปูนที่เกิดรวมกันเป็นหมู่เกาะอยู่กลางทะเลอ่าวไทย ชั้นหินจัดอยู่ในกลุ่มหินปูนยุคเพอร์เมียนตอนกลาง (Middle Permian) มีอายุประมาณ 260 ล้านปี เป็นเขาหินปูนที่มียอดเขาตะปุ่มตะป่ำ เพราะน้ำฝนและน้ำสามารถชะละลายเนื้อหินปูนออกไปได้ง่าย พื้นที่ทั่วไปมีแนวโน้มจะประกอบไปด้วยหลุม บ่อ ถ้ำ และทางน้ำใต้ดินที่เป็นช่องทางนำพาเอาเนื้อหินปูนแทรกซึมหายไป ล่าสุดเมื่อฝนตกปริมาณมากจากอิทธิพลของพายุโนอึล ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้น้ำฝนไหลเข้าไปในรอยแยกรอยแตกเหล่านั้น มวลหินสูญเสียเสถียรภาพ ประกอบกับน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้หินปูนเกิดการแตกเคลื่อนตัวและถล่มลงมา
เบื้องต้นได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสังเกตการณ์ เนื่องจากอาจมีการถล่มเพิ่มเติมได้แล้วจะเร่งสำรวจสภาพความเสียหายและขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้แจ้งเตือนราษฎรและชาวประมงรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ให้ระมัดระวัง รวมทั้งไม่ให้เดินเรือเข้าใกล้บริเวณพื้นที่ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย