กรุงเทพ 10 ส.ค.- ประธาน ก.อ.เตรียมเสนอหลักเกณฑ์ อุดช่องว่างการสอบสวนวินัยรองอัยการสูงสุด ให้ที่ประชุม ก.อ.พิจารณา 18 ส.ค.นี้
หลังนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการแทน อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กรณีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อปี 2555 จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. และอดีตอัยการสูงสุด กล่าวถึง ขั้นตอนการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการว่า คดีนี้มีความพิเศษตรงที่ ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนก่อน เคยมีคำสั่งให้ยุติการร้องขอความเป็นธรรมไปแล้ว แต่รองอัยการสูงสุดกลับหยิบเอาประเด็นการร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก โดยไม่ได้ขอความเห็นไปยังอัยการสูงสุดก่อน จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าการใช้ดุลพินิจในกระบวนการสั่งคดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ได้ให้อำนาจอัยการสูงสุด สอบสวนอัยการที่ถูกกล่าวหาหรือต้องสงสัยว่ากระทำความผิดวินัยไว้ ยกเว้นระดับรองอัยการสูงสุด
ดังนั้นตามความเห็นส่วนตัวซึ่งได้นำหารือนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด คนปัจจุบัน ก็คือ ให้ใช้บุคคล ที่เป็นอดีตอัยการสูงสุด หรือ อดีตรองอัยการสูงสุด ที่เชี่ยวชาญการสั่งคดีอาญา ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และได้รับการยอมรับจากสังคม มาตั้งเป็นคณะบุคคล จำนวนเลขคี่ คือ 3 หรือ 5 คน มาพิจารณา เพราะหากคิดหากระบวนการตรวจสอบดุลพินิจ โดยใช้อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด ที่ยังดำรงตำแหน่ง หรือ ข้าราชการอัยการใต้บังคับบัญชามาตรวจสอบ สังคมอาจมองเป็นกระบวนการฟอกขาว ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอดีตอัยการสูงสุด หลายท่านที่ติดต่อไปยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ แต่คาดว่าวันที่ 11 หรือ 12 สิงหาคม นี้น่าจะได้รายชื่อคณะบุคคลครบตามจำนวนเพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการอัยการพิจารณาลงมติในวันที่ 18 สิงหาคม นี้
โดยล่าสุดได้มีการพูดคุยหารือกับ คณะกรรมการ ก.อ.แล้ว 4 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย อัยการสูงสุด ข้าราชการอัยการบำนาญ 2 คน และ ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน ส่วนคณะกรรมการ ก.อ. โดยตำแหน่งที่เป็นรองอัยการสูงสุด 5 คน และข้าราชการอัยการที่ได้รับเลือกมา 4 คน นั้นยังไม่มีการพูดคุย ซึ่งผลการลงมติจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แต่อยากชี้ประเด็นให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมอัยการ (ก.อ.) นั้นผู้สื่อข่าวตรวจสอบแล้วมีทั้งสิ้น 15 คน แบ่งเป็น ประธานคณะกรรมการอัยการ 1 คน คณะกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ประกอบด้วย อัยการสูงสุด กับ รองอัยการสูงสุด ข้าราชการอัยการที่ได้รับเลือกมา 4 คน ข้าราชการอัยการบำนาญ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คน
ซึ่งการลงมติใช้เสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากันประธานคณะกรรมการมีสิทธิใช้คะแนนเสียงชี้ขาดมติได้ .-สำนักข่าวไทย