ทำเนียบฯ 20 มี.ค.- นายกฯ แจงคำสั่งให้ “บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” ช่วยราชการสำนักนายกฯ 60 วัน ยืนยันไม่ใช่การลงโทษ แต่เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อ เตรียมตั้ง คกก. 3 คน สอบสวนข้อเท็จจริงคดีต่างๆ บอกไม่สบายใจ แต่ต้องทำตามหน้าที่ เพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยัน กรณีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว 60 วัน และมอบ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากมีประเด็นเรื่องการบริหารราชการและคดีความต่างๆ จึงต้องให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าด้วยความเป็นธรรม โดยไม่มีการแทรกแซง ยืนยันว่า ทั้ง 2 คน ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความสะดวกและดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม โดยระหว่างนี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมย้ำว่าไม่ได้การลงโทษ เงินเดือนและทุกอย่างยังเหมือนเดิม
ทั้งนี้ จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 คน เป็นตำรวจ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และจากสำนักอัยการฯ มาพิจารณาทุกคดีที่มีการกล่าวโทษซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการแจ้งเรื่องดังกล่าว และพูดคุยกับทั้ง 2 คน เรียบร้อยแล้ว ว่าควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงที่มาช่วยราชการ และ 2 คน รับปากว่าจะไม่พูดถึงประเด็นต่างๆ และสั่งไม่ให้ลูกน้องทั้งสองฝ่ายพูดด้วยเช่นกัน ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่มีการแทรกแซง
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ และไม่ได้รู้สึกสบายใจที่ต้องทำเช่นนี้ เพียงแต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินหน้าดูแลประชาชนต่อไปได้ เชื่อว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ หากคณะกรรมการตรวจสอบแล้วเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมใช้เวลามากกว่า 60 วัน แต่หากพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องมีการก้าวก่ายแทรกแซง ก็จะพิจารณาโอนย้ายกลับมา ขอเวลาให้ได้ทำงาน ซึ่งจะพิจารณาทุกคดีที่มีการกล่าวโทษซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อได้แจ้งไปยังทั้งสองคน ก็เป็นธรรมดาที่มีความกังวลใจและไม่สบายใจ แต่ก็ยอมรับด้วยดี และเมื่อได้แจ้งรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 3 คนไป ก็ไม่ได้ขัดข้อง เพราะเป็นคนกลาง
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ตนเองไม่ได้มีธงว่าจะต้องตัดสินออกมาเป็นอย่างไร การที่คู่ขัดแย้งมาช่วยราชการก่อน ทุกคนก็จะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ และเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีชื่อเสียงที่ดีกลับคืนมาได้
“ก็มีความลำบากใจและไม่สบายใจที่ต้องทำเช่นนี้ แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำคู่ขัดแย้งออกจากระบบ และให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไปได้ ปราศจากการแทรกแซง เชื่อว่าทุกคนเข้าใจ” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในพรุ่งนี้ (21 มี.ค.) จะเรียกประชุมรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการภาค เพื่อชี้แจงนโยบาย แต่ไม่จำเป็นต้องชี้แจงในเรื่องนี้ เพราะตนพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด และสื่อมวลชนก็คงช่วยเป็นกระบอกเสียง
นายกรัฐมนตรี หวังว่าทั้งสองคนน่าจะสบายใจว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการสืบสวนสอบสวนแล้ว และจะได้ไม่มีการกล่าวหาว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
“การทำเช่นนี้เป็นการปกป้องทั้งสองคน ไม่ใช่การลงโทษ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองคน เพราะการนำออกจากตำแหน่งที่มีอำนาจ ทำให้เมื่อตรวจสอบแล้วปราศจากมลทิน และกลับมาได้อย่างสง่างาม” นายเศรษฐา กล่าว.-315.-สำนักข่าวไทย